top of page
Writer's pictureBaankluay News

ไม่มีใครเข้าใจฉัน…ไม่มีใครเข้าใจเธอ โรคซึมเศร้า โรคเงียบที่อันตราย

Updated: Oct 10, 2018

โรคซึมเศร้า ภัยร้ายทางความรู้สึก ก่อให้เกิดความเจ็บป่วย โดยที่ตัวคุณเองอาจไม่รู้ตัวเลยด้วยซ้ำ หากไม่มีการสังเกตการเปลี่ยนแปลงของตัวคุณเอง ด้วยสภาวะทางอารมณ์ที่เปลี่ยนไป การเก็บตัวเงียบ กีดกันตัวเองออกจากคนรอบข้าง มีปัญหาแต่ไม่กล้าปรึกษาใคร อธิบายออกไปคนรอบข้างก็ไม่เข้าใจ นำไปสู่การฆ่าตัวตาย


ซึ่งสอดคล้องกับกรมสุขภาพจิต ได้เปิดเผยผลการวิจัยการศึกษาของธนาคารโลกร่วมกับมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด  ภายในปี 2020 โรคซึมเศร้าจะเป็นปัญหาสาธารณสุขระดับโลกอันดับที่ 2 รองลงมาจากโรคหัวใจหลอดเลือด  และประเทศไทยถูกเฝ้าจับตามองเป็นอันดับ 4 ของโลก เนื่องจากปัญหาการฆ่าตัวตาย มักเกิดจากผู้ป่วยที่มีอาการซึมเศร้าเป็นสาเหตุหลัก



“รู้สึกเครียดมาก นอนร้องไห้ทุก ๆ คืน จากเด็กกิจกรรมคนหนึ่งที่เคยร่าเริง เฮฮาหัวเราะไปกับเพื่อน ๆ แต่ตอนนี้เสียงหัวเราะเริ่มหดหาย รอยยิ้มที่มีกลับเจือจาง ไม่อยากยุ่งเกี่ยวกับใคร ทุกอย่างมันดูหดหู่ไปหมด”

นี่คือเสียงสะท้อนของผู้ป่วยอาการโรคซึมเศร้ารายหนึ่ง ที่เริ่มสังเกตถึงความผิดปกติของตัวเธอเอง เธอเริ่มสังเกตตัวเองตั้งแต่ตอนเรียนมหาวิทยาลัย เธอเป็นพี่สันทนาการที่คอยสร้างเสียงหัวเราะให้กับน้อง ๆ แต่อยู่มาวันหนึ่งเธอเริ่มเปลี่ยนไป เธอไม่มีความสุขกับสิ่งที่กำลังทำอยู่ รอยยิ้มและเสียงหัวเราะเริ่มหายไป จนเธอต้องปลีกตัวออกมา เพราะไม่สามารถอยู่ร่วมและอดทนทำกิจกรรมกับคนอื่น ๆ ได้


เมื่อเธอเข้าทำงานที่บริษัทแห่งหนึ่ง อาการของเธอเริ่มรุนแรงขึ้น จนไม่มีใครสามารถทำงานร่วมกับเธอได้ เพราะพวกเขาไม่เข้าใจในสิ่งที่เธอเป็น เธอกดดันตัวเองและเครียดมาก จนต้องลาออกจากงานเพื่อกลับไปต่างจังหวัด ไปหามารดาผู้ให้กำเนิด แต่แล้วแสงสว่างสุดท้ายที่เธอหวังจะพบเจอกลับไม่มี ทุกคนที่บ้านรวมถึงแม่ของเธอ ก็ไม่เข้าใจถึงโรคที่เธอเป็น ทุกคนเอาแต่ถามคำถามเธอ ว่า กลับมาทำไม อยู่กรุงเทพก็ดีอยู่แล้วไม่ใช่เหรอ ทำงานอยู่ในห้องแอร์เย็น ๆ จะกลับมาบ้านมาทำงานตากแดดตากลมทำไม ทุกคนทำเหมือนเธอเป็นตัวปัญหา ตราหน้าเธอราวกับว่าเธอเป็นนักโทษที่ทำความผิด เธอแค่อยากกลับมาบ้านเพื่อพักผ่อนจิตใจ เธอทำผิดอะไร เฝ้าถามตัวเองอยู่ตลอดว่า “ฉันกลับมาทำไม ไม่น่ากลับมาที่นี่อีกเลย”


ท้ายที่สุดเธอทนอยู่ที่แห่งนั้นต่อไปไม่ไหว ชั่ววูบหนึ่งเธอกลับมีความคิดขึ้นมาว่า “ไม่อยากมีตัวตนอยู่บนโลกนี้อีกแล้ว อยากออกไปจากความรู้สึกแบบนี้ ความรู้สึกที่เธอไม่ต้องการ และไม่มีใครเข้าใจในตัวเธอ” เธอเข้าพบกับจิตแพทย์ คุณหมอแนะนำว่าเธอควรออกจากสิ่งแวดล้อมแย่ ๆ ที่เป็นตัวก่อโรค ในใจของเธอตอนนั้น คำว่า อกตัญญู เต็มหัวไปหมด หากเธอทนอยู่ต่อไปอาการของเธอก็จะยิ่งทรุด หากเลือกที่จะเอาตัวเองออกมาจากครอบครัว ก็จะถือว่าเป็นคน เนรคุณ ไม่ว่าเธอจะเลือกอย่างไหน ใจของเธอก็เจ็บปวดทั้งนั้น คำว่า อกตัญญู เนรคุณ มันติดตัวเธอไปตลอด นับจากวันนั้นที่ก้าวออกมา


“สุดท้ายก็ไม่มีใครเข้าใจในสิ่งที่ฉันเป็น แม้แต่ครอบครัวที่ให้กำเนิดฉันมา”

แต่เหมือนฟ้ายังเมตตาเธอ ส่งคนรักของเธอให้มาคอยอยู่เคียงข้างกัน เขาพร้อมที่จะรับฟังปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น แม้ยามที่เธอทุกข์ใจ เธอสามารถระบายมันออกไปและพูดคุยกับเขาได้ อย่างไม่รู้สึกหวาดระแวง หรือมองตัวเธอนั้นแปลกประหลาด เธอไม่ขออะไรมากอีกแล้วหลังจากนี้ ขอแค่มีเพียงคนที่เข้าใจเธอ เข้าใจในสิ่งที่เธอเป็น ก็เพียงพอสำหรับเธอแล้ว


ขอบคุณภาพจาก คลินิกสุขภาพจิตนายแพทย์เจษฎา

ทั้งนี้ นพ.เจษฎา ทองเถาว์  จิตแพทย์ประจำ รพ.พระศรีมหาโพธิ์   ได้ให้ข้อมูลว่า  “โรคซึมเศร้าที่เกิดขึ้นนั้นจะคงอยู่เกือบตลอดเวลาอย่างต่อเนื่อง เป็นเดือนถึงเป็นปี ทำให้ผู้ป่วยมีลักษณะเศร้า เบื่อหน่าย ขาดความสนใจจากสิ่งที่เคยชอบ หลงลืม มีอาการเบื่ออาหาร นอนไม่หลับ และในรายที่รุนแรงก็อาจมีความคิดอยากตายหรือการฆ่าตัวตายร่วมด้วย”


พร้อมให้คำแนะนำถึงผู้ใกล้ชิดผู้ป่วยโรคซึมเศร้าว่า อาวุธที่สำคัญที่สุดของจิตแพทย์...ไม่ใช่การพูด และมีหลายคนพยายามตั้งคำถาม


“จะทำอย่างไรให้เขาสบายใจ ทำอย่างไรเขาถึงจะดีขึ้น โดยลืมไปว่าอาวุธที่สำคัญที่สุด ของการบำบัดทางใจคือ การฟัง”


ขอบคุณภาพจาก คลินิกสุขภาพจิตนายแพทย์เจษฎา

1,062 views0 comments

Commenti


bottom of page