top of page
Writer's pictureBaankluay News

จิตแพทย์เผย รู้เท่าทัน และป้องกัน ลดความเสี่ยงโรคซึมเศร้า

ผู้เชี่ยวชาญจิตเวช แนะนำการดูแลสุขภาพจิตด้วยตัวเอง เมื่อมีอาการซึมเศร้า ควรหลีกเลี่ยงออกจากสถานการณ์ที่มีความตึงเครียด อย่าตำหนิหรือโทษตัวเอง ให้ฝึกคิดบวก คิดแต่เรื่องที่ดีไว้ก่อน เพราะการคิดบวกสามารถลดความกดดันและความเครียดลงได้ แต่ในขณะเดียวกันผู้ใกล้ชิดผู้ป่วยก็ต้องเข้าใจว่า ‘โรคซึมเศร้า’ เป็นโรคเงียบที่ต้องการคนเข้าใจ หากสังเกตเห็นคนใกล้ชิดมีความผิดปกติทางด้านอารมณ์ หรือมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ควรแนะนำให้ไปเข้าพบจิตแพทย์เพื่อตรวจดูอาการ และรักษาต่อไป


ขอบคุณภาพจาก คลินิกสุขภาพจิตนายแพทย์เจษฎา

นพ.เจษฎา ทองเถาว์  จิตแพทย์ประจำ รพ.พระศรีมหาโพธิ์ เปิดเผยข้อมูลว่า  โรคซึมเศร้า  ในปัจจุบันมีการประมาณการกันว่า ในคนไทย 100 คนจะมีคนที่ไม่สบายด้วยโรคซึมเศร้าอยู่ 2-3 คน เป็นสาเหตุสำคัญของการฆ่าตัวตาย นั่นเพราะโรคซึมเศร้าทำให้เกิดความรู้สึกสิ้นหวัง หมดหนทาง เกิดความรู้สึกด้านลบ ความรู้สึกผิด และลงเอยด้วยการทำร้ายตนเองในที่สุด พร้อมทั้งแนะนำวิธีการรับมือกับโรคซึมเศร้า


9 อาการสำคัญของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า

1. รู้สึกเศร้าใจ หม่นหมอง หงุดหงิด หรือไม่สบายใจ

2. ขาดความสนใจต่อสิ่งที่เคยทำให้มีความสุข หรือสิ่งแวดล้อมรอบข้าง

3. น้ำหนักลดลง หรือเพิ่มขึ้น เบื่ออาหารหรือกินจุ

4. นอนไม่หลับ หรือหลับมากกว่าปกติ

5. รู้สึกผิด สิ้นหวัง หรือรู้สึกว่าตนเองไร้ค่า

6. ไม่มีสมาธิ หลงลืมง่าย ไม่สามารถตัดสินใจเองได้

7. อ่อนเพลีย เมื่อยล้า ไม่มีเรี่ยวแรง

8. เชื่องช้า หรือกระสับกระส่าย อยู่ไม่สุข

9. คิดถึงแต่ความตาย หรือคิดฆ่าตัวตาย พยายามฆ่าตัวตายหรือมีการวางแผน


โรคซึมเศร้าต่างจากอารมณ์เศร้าทั่วไปอย่างไร ?

อารมณ์เศร้า เป็นหนึ่งในอารมณ์พื้นฐานของมนุษย์ มักเกิดเมื่อเราต้องเจอกับความผิดหวัง ความสูญเสีย การไม่ได้อย่างที่ใจต้องการ ส่วนใหญ่เมื่อเกิดขึ้นแล้วมันจะคงอยู่สักพัก แล้วก็จะค่อย ๆ จางหายไปเอง แต่สำหรับ ‘โรคซึมเศร้า’ อารมณ์เศร้าที่เกิดขึ้นนั้นจะคงอยู่เกือบตลอดเวลาอย่างต่อเนื่อง (เป็นเดือน ๆ ถึงเป็นปี ๆ) ทำให้มีลักษณะเศร้า เบื่อหน่าย ขาดความสนใจจากสิ่งที่เคยชอบ หลงลืม มีอาการเบื่ออาหาร นอนไม่หลับ และในรายที่รุนแรงก็อาจมีความคิดอยากตายหรือการฆ่าตัวตายร่วมด้วย ที่สำคัญอาการต่าง ๆ เหล่านี้จะต้องส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ทำให้เกิดความบกพร่องในหน้าที่การงาน การเรียน หรือความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง จึงจะนับว่าเป็นโรคซึมเศร้า


จะดูแลสุขภาพจิตตนเองอย่างไรเมื่อรู้ว่ากำลังซึมเศร้า ?

1. ควรเลี่ยงจากสถานการณ์ที่มีความตึงเครียดรุนแรง

2. ควรเลี่ยงการอยู่ลำพังเป็นเวลานาน (ควรมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางศาสนาหรือสังคม)

3. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

4. หยุดการตำหนิและโทษตัวเอง

5. รู้จักให้กำลังใจตนเอง

6. ฝึกคิดบวก ทั้งต่อตนเอง สังคม และผู้อื่น

7. ตั้งเป้าหมายไม่สูงหรือยากเกินไป

8. ชะลอการตัดสินใจในเรื่องสำคัญๆของชีวิตไว้ก่อน เช่น การลาออก เปลี่ยนงาน แต่งงาน หรือหย่า

9. เฝ้าระวังความคิดเกี่ยวกับการทำร้ายตนเอง

**ต้องบอกคนใกล้ชิดให้ทราบเสมอเมื่อมีความคิดถึงความตาย/ความไม่อยากมีชีวิตอยู่**


จะช่วยเพื่อนที่เป็นโรคซึมเศร้าได้อย่างไร?

1. ให้กำลังใจ สอบถามความรู้สึกเมื่อมีจังหวะที่ดี เมื่อคิดว่าเขาต้องการ แต่หากเขายังไม่อยากพูดหรือไม่พร้อม ก็ไม่ต้องคาดคั้นให้เขาพูดออกมา แค่แสดงให้เขารู้ว่ายังมีเราที่พร้อมให้ความช่วยเหลืออยู่และสามารถให้เขาเรียกหาได้เสมอเมื่อต้องการ

2. สื่อให้เขารู้ว่า จะอย่างไรก็แล้วแต่เราก็จะไม่ทิ้งเขา เขายังเป็นคนที่เรารัก เราจะอยู่กับเขา และเขาไม่ใช่ภาระ สิ่งที่เราทำให้เขาเป็นความเต็มใจของเรา

3. หันเหความเศร้าออกจากตัวเอง ชวนไปทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน ส่งเสริมการออกกำลังกาย การชักชวนให้คนไข้ได้ออกไปมีกิจกรรมร่วมกัน ได้มีสังคม ก็อาจจะช่วยให้อาการซึมเศร้าดีขึ้นได้ แต่ถ้าคนไข้ปฏิเสธก็ไม่ต้องไปฝืนใจ ให้ชักชวนในอีกวันสองวันถัดไป บางเวลาเราอาจต้องใช้ความอดทนกับการรอพอสมควร

4. ส่งเสริมให้ทานยาอย่างต่อเนื่อง เฝ้าระวังผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ของยา

5. ให้คนไข้อยู่ห่างจากสุราและสารเสพติด

6. เฝ้าระวังความเสี่ยงรุนแรง เช่น การคิดทำร้ายตนเอง ความเสี่ยงที่จะไปทำร้ายผู้อื่น การจับจ่ายมากกว่าปกติ ความวู่วามทางอารมณ์

7.ถ้าได้ลองทำทุกอย่างแล้วยังไม่ดีขึ้น ก็ควรรีบหาตัวช่วยจากผู้เชี่ยวชาญหรือรีบกลับไปพบคุณหมอประจำตัวครับ


ขอบคุณภาพจาก คลินิกสุขภาพจิตนายแพทย์เจษฎา

130 views0 comments

Comentários


bottom of page