ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวชเผย คนในสังคมไทยกำลังเข้าใจผิดเกี่ยวกับโรคไบโพลาร์ มีหลายคนคิดว่า โรคไบโพลาร์เป็นโรคเดียวกันกับโรคสองบุคลิก ทั้งที่จริงแล้วสองโรคนี้มีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง โดยแบ่งรูปแบบของการเกิดโรคออกเป็น 4 รูปแบบ ได้แก่ ช่วงแมเนีย ช่วงซึมเศร้า ช่วงอารมณ์ผสม และช่วงไฮไปแมเนีย พร้อมทั้งแนะนำวิธีรักษาผู้ป่วยที่เป็นโรคไบโพลาร์
นพ.เจษฎา ทองเถาว์ จิตแพทย์ประจำ รพ.พระศรีมหาโพธิ์ อธิบายว่า คนส่วนใหญ่ในสังคมไทยกำลังเข้าใจผิด คิดว่าโรคไบโพลาร์ คือโรคเดียวกับโรคสองบุคลิก ที่มีสองบุคลิกซ่อนอยู่ในคนเดียวกัน โดยมีอาการเดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย เปลี่ยนแปลงไปมาได้อย่างรวดเร็ว หรือสับเปลี่ยนกันออกมาพบปะผู้คนได้ตามสถานการณ์ แต่จริง ๆ แล้ว ไม่ใช่หากแต่โรคไบโพลาร์ จะมีการดำเนินโรคแบบ เป็น ๆ หาย ๆ เป็นครั้ง ๆ (Episodic/Cycle) เรียกการเจ็บป่วยในแต่ละครั้งว่า Episode ในแต่ละ episode จะกินระยะเวลาประมาณ 6-18 เดือน
ทั้งนี้ นพ.เจษฎา อธิบายเพิ่มเติมว่า การเจ็บป่วยในแต่ละ episode มีได้ 4 รูปแบบ ดังนี้
รูปแบบที่ 1 ช่วงแมเนีย ‘ช่วงที่คึกมาก’ (Mania หรือ Manic Episode) โดยผู้ป่วยจะมีอาการแปรปรวนหรือรื่นเริงผิดปกติ ร่วมกับมีความมั่นอกมั่นใจสูงเกิน มีการนอนน้อยลง พูดมากขึ้น มีกิจกรรมต่าง ๆ เพิ่มขึ้นมากกว่าปกติ หรือใช้เงินมากกว่าปกติ และเน้นย้ำว่า อาการลักษณะนี้จะต้องเกิดขึ้นแทบทุกวัน ติดต่อกันอย่างน้อย 1 สัปดาห์ และจะต้องส่งผลกระทบต่อหน้าที่การงานหรือสังคม
รูปแบบที่ 2 ช่วงซึมเศร้า (Depressive Episode) ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการซึมเศร้า เบื่อหน่าย ขาดความสุขในสิ่งที่ชอบทำ ร่วมกับมีอาการเบื่ออาหาร นอนไม่หลับ สิ้นหวัง ไปจนถึงอยากตาย และเน้นย้ำว่า อาการลักษณะนี้จะต้องเกิดขึ้นแทบทุกวัน ติดต่อกันอย่างน้อย 2 สัปดาห์ และจะต้องส่งผลกระทบต่อหน้าที่การงานหรือสังคม
รูปแบบที่ 3 ช่วงอารมณ์ผสม (Mixed Episode) ผู้ป่วยจะมีอาการผสมสลับกันไปมาระหว่าง Mania และ Depressive และเน้นย้ำว่า อาการลักษณะนี้จะต้องเกิดขึ้นแทบทุกวัน ติดต่อกันอย่างน้อย 1 สัปดาห์ และจะต้องส่งผลกระทบต่อหน้าที่การงานหรือสังคม
รูปแบบที่ 4 ช่วงไฮไปแมเนีย ‘ช่วงคึกนิด ๆ ’ (Hypomanic Episode) โดยผู้ป่วยจะมีอาการคล้ายช่วง Mania แต่จะมีอาการรุนแรงน้อยกว่า และยังพอทำงานได้ หรือยังไม่กระทบต่อความสัมพันธ์ในด้านต่าง ๆ ในการดำเนินชีวิตประจำวันมากนัก และเน้นย้ำว่า ผู้ป่วยต้องเกิดอาการแทบทุกวัน ติดต่อกันอย่างน้อย 4 วัน
อย่างไรก็ตามผู้ป่วยที่ป่วยเป็นโรคนี้ ไม่จำเป็นจะต้องมี Episodes ครบทั้ง 4 แบบก็ได้ แต่อย่างน้อยหนึ่งครั้งในชีวิต จะต้องเคยมี Manic Episode จึงจะวินิจฉัยว่าเป็นโรคไบโพลาร์
นพ.เจษฎา แนะนำถึงวิธีการรักษาโรคไบโพลาร์ว่า แม้ผู้ป่วยจะไม่ได้รับประทานยารักษาโรคไบโพลาร์ ก็สามารถหายจากโรคนี้ได้เอง แต่จะต้องใช้ระยะเวลาค่อนข้างนาน เมื่อเทียบกับการรับประทานยา (อาการจะดีขึ้นในหลักสัปดาห์ / เดือน) ระหว่างที่ไม่ได้ทานยารักษา ก็อาจเกิดผลกระทบที่น่ากลัวต่อผู้ป่วยและคนรอบข้างได้ โดยในช่วงที่ผู้ป่วยมีอาการสงบ จะสามารถกลับไปดำเนินชีวิตประจำวันได้เป็นปกติ พร้อมเน้นย้ำว่า ต้องทานยาอย่างต่อเนื่องเพื่อป้องกันไม่ให้อาการกำเริบ แต่ถ้าอาการดีขึ้นก็สามารถหยุดยาได้ ภายใต้การดูแลของแพทย์
Comments