top of page
Writer's pictureBaankluay News

‘Cyberbullying’ ภัยคุกคามเด็กไทยในยุคดิจิทัล

Cyberbullying หรือการรังแกกันบนโลกไซเบอร์ เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับคนทุกเพศทุกวัย แต่ในเด็กและเยาวชนจะต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ เพราะยังขาดวุฒิภาวะ และรับมือกับปัญหาที่เกิดจากการใช้โซเชียลได้น้อย ทั้งนี้เพราะปัจจุบันโซเชียลมีเดียเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของเรามากขึ้น แทบไม่มีใครในสังคมที่ไม่ใช้โซเชียลมีเดียในการติดต่อสื่อสาร หรือแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน


ขอบคุณภาพจาก Marten Bjork

แม้ว่าพฤติกรรม Cyberbullying ในประเทศไทยจะยังไม่เป็นที่รู้จักเท่าไรนัก แต่พฤติกรรมดังกล่าวมีให้เห็นหลากหลายรูปแบบ เช่น


1. การกล่าวอ้างหรือพาดพิงถึงบุคคลอื่น เพื่อมีจุดประสงค์ทำให้ผู้อื่นเสียหาย เช่น การโพสต์ การแชร์ การคอมเมนต์ การแชทกันในสื่อโซเชียลต่าง ๆ

2. การทำให้บุคคลอื่นเกิดความอับอาย เช่น การนำภาพหลุด คลิป และเสียงที่ไม่เหมาะสม มาเผยแพร่ต่อสาธารณะชน โดยที่เจ้าตัวไม่อนุญาต

3. การหลอกลวงบุคคลอื่น โดยการหลอกลวงผ่านช่องทางอินเทอร์เน็ตและสื่อโซเชียลต่าง ๆ ที่ทำให้บุคคลอื่นเกิดความเสียหาย ไม่ว่าจะเป็นทางทรัพย์สิน หรือร่างกาย

4. การแบล็กเมล์ คือการนำข้อมูลส่วนบุคคลหรือข้อมูลลับมาเปิดเผยต่อพื้นที่สาธารณะโดยที่ไม่ได้รับการยินยอมจากบุคคลนั้น หรือการนำข้อมูลลับของบุคคลนั้นมาทำการดัดแปลง ใส่ร้ายป้ายสี ตลอดจนนำมาสร้างผลประโยชน์ให้แก่ตนเอง

5. การสวมรอยบุคคลอื่นที่มีตัวตนอยู่จริง เพื่อต้องการทำสิ่งที่เสื่อมเสีย สร้างผลประโยชน์แก่ตนเอง หรือนำไปใช้ในการสร้างความเสียหายต่อชื่อเสียงของบุคคลที่ถูกสวมรอย โดยการแอบอ้างว่าเป็นบุคคลนั้นจริง ๆ และไม่ได้รับการอนุญาตหรือยินยอมจากบุคคลนั้น


พฤติกรรมดังกล่าวนี้ยังคงเกิดขึ้นและทวีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง จึงควรศึกษาถึงสาเหตุและแนวทางการป้องกัน


นายแพทย์สมัย ศิริทองถาวร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสาเหตุของการเกิด Cyberbullying ของเด็กและเยาวชนว่า บางทีพวกเขาไม่ได้ตั้งใจ Cyberbullying ใคร แต่อาจเกิดจากการที่เขาเพียงแค่นึกสนุก จึงพิมพ์กล่าวหาหรือว่าเด็กคนอื่นลงในอินเทอร์เน็ต โดยที่ไม่ได้คำนึงถึงความรู้สึกของบุคคลอื่น ทำให้เขาไม่รู้สึกว่าตนเองผิด เมื่อรู้ตัวอีกทีเหตุการณ์อาจจะใหญ่ขึ้น คนส่งต่อข้อความเหล่านั้นผ่านทางสื่อโซเชียลจำนวนมาก ทำให้เขาหยุดการกระทำนั้นไม่ได้ และอีกเหตุผลหนึ่งคือเขาอาจเคยเป็นผู้ถูกกระทำ อยู่ในภาวะทางจิต จึงไประบายลงกับผู้อื่นแทน เพื่อทดแทนสิ่งที่ตนเองเคยโดนกระทำไป รวมถึงเด็กไม่รู้ว่าเพียงแค่ส่งต่อข้อความที่มีลักษณะเข้าข่ายการผิดกฎหมายในอินเทอร์เน็ต ก็ถือว่าเป็นการทำผิดกฎหมาย


บ้านกล้วยสังคมลงไปค้นข้อมูลทางกฎหมายพบว่าในประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้โดยตรง แต่สามารถนำกฎหมายที่มีอยู่มาปรับใช้ได้ คือ กฎหมายอาญา และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550


กฎหมายอาญา

มาตรา 326 ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์

พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 16 ซึ่งเน้นที่การเผยแพร่ภาพหรือคลิปที่ผ่านการตัดต่อโดยการตัดต่อนั้นต้องมีลักษณะส่งผลโดยตรงให้ผู้เสียหายเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย


พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 24) ได้มีคำนิยามของ “สื่อลามกอนาจารเด็ก” คือ วัตถุหรือสิ่งที่แสดงให้รู้หรือเห็นถึงการกระทําทางเพศของเด็กหรือกับเด็กซึ่งมีอายุไม่เกินสิบแปดปี ซึ่งมีมาตราที่สามารถเอาผิดบุคคลที่นำสื่อลามกอนาจารเด็กมาเผยแพร่ผ่านอินเทอร์เน็ตได้ คือ มาตรา 287/1 กำหนดให้การส่งต่อแก่ผู้อื่น มีโทษจำคุกสูงสุด 7 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


ขอบคุณภาพจาก John Schnobrich)

ส่วนแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าว สถาบันครอบครัวโดยเฉพาะผู้ปกครองสามารถเข้าถึงเด็กและเยาวชนได้อย่างใกล้ชิดมากที่สุด โดยทางบ้านกล้วยสังคมมีคำแนะนำให้กับผู้ปกครอง ดังนี้


1. หมั่นตรวจสอบสื่อโซเชียลมีเดียของเด็กว่าไม่ได้อยู่ในสถานการณ์อันตราย

2. ควรทำตัวเป็นเพื่อนที่ดี คอยให้คำเเนะนำ เป็นที่ปรึกษา หากเด็กอยู่ในสถานการณ์ที่ถูกกลั่นแกล้ง

3. เก็บหลักฐานเอาไว้ หากพบว่าเด็กถูก Cyberbullying

4. พูดคุยกับทางโรงเรียนเพื่อหาทางออก หากสถานการณ์รุนเเรง

5. ปลูกฝังให้เด็กใช้อินเทอร์เน็ตในทางที่ดี ไม่กลั่นแกล้งผู้อื่น เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเหล่านี้เพิ่มขึ้น

6. บอกเด็กว่าไม่ควรเพิกเฉย เมื่อพบว่าเพื่อน หรือคนใกล้ตัว กำลังถูกกลั่นเเกล้งในโลกออนไลน์


“ท้ายที่สุดการเปลี่ยนแปลงเริ่มจากอะไรบางอย่างที่เรียบง่ายในโลกออนไลน์ เช่น ความเห็นอกเห็นใจ หยุดการกลั่นแกล้งกัน ถึงแม้จะเริ่มจากคนเพียงคนเดียว ก็สร้างความแตกต่างได้”
63 views0 comments

Comments


bottom of page