สังคมไทยมีปัญหาเด็กนักเรียนตั้งท้องก่อนวัยอันควรกันเป็นจำนวนมาก ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขเปิดเผยว่าในปี พ.ศ. 2555 ประเทศไทยมีวัยรุ่นอายุ 15-19 ปี คลอดบุตรจำนวน 129,451 คน คิดเป็นอัตราร้อยละ 5.38 ต่อจำนวนประชากรหญิงอายุ 15-19 ปี ทุก 1,000คน ซึ่งเป็นอัตราที่สูงมาก และจากรายงานการคลอดในประเทศไทยของสำนักอนามัยเจริญพันธุ์ ประจำปี 2559พบว่ามีนักเรียนถึง 31% ที่ลาออกจากโรงเรียนกลางคันและมีเพียง 51% เท่านั้นที่เรียนจบมัธยมปลายหรือเทียบเท่า ตัวเลขดังกล่าวสะท้อนให้เห็นปัญหาของวัยรุ่นที่พลาดตั้งท้อง เพราะเมื่อลาออกจากโรงเรียนกลางคันแล้วนั่นหมายถึงไม่ได้รับคุณวุฒิทางการศึกษาและส่งผลต่อการหางานทำ เมื่อไม่มีงานประกอบอาชีพใด ๆ ก็กลายเป็นผู้ว่างงาน ขาดโอกาสในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนให้ดีขึ้น
นางสาวซี (นามสมมุติ) เปิดเผยกับบ้านกล้วยการศึกษาว่า ตนทราบว่าตัวเองตั้งท้องขณะเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ก็ตัดสินใจลาออกจากโรงเรียน พร้อมบอกความรู้สึกว่า หากย้อนเวลากลับไปได้ตนอยากอดทนเรียนต่อให้จบดีกว่า “ตอนที่ลูกคลอดมาแรก ๆ เราก็ตระเวนหางานทำ แต่เพราะไม่มีวุฒิเลยไม่มีใครรับเข้าทำงานเลย เลยไปเรียน กศน.ปัจจุบันก็จบมามีงานทำที่โรงงานเล็ก ๆ ถึงอย่างนั้นก็ยังมีคนพูดกระทบกระทั่งอยู่”
จากข้อมูลผู้เขียนเห็นว่าผู้ที่ตั้งท้องก่อนวัยเกือบทุกรายที่ต้องลาออกจากโรงเรียน ก็ต้องเจอกับความกดดันในชีวิตเฉกเช่นเดียวกับนางสาวซี ต้องทนรับกับคำพูดดูหมิ่นทุก ๆ วัน แต่สำคัญที่สุดคือการลาออกขณะยังเรียนไม่จบทำให้ขาดคุณวุฒิ ยากต่อการหางานทำประกอบอาชีพเลี้ยงดูตนเองและลูกได้ ในระดับประเทศเองนักเรียนที่จบการศึกษามีจำนวนลดลง ภาพลักษณ์ทางการศึกษาในสายตาของนานาชาติจึงดูแย่ลง
อย่างไรก็ตาม ปัญหาเหล่านี้หน่วยงานของภาครัฐไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้พยายามกำหนดกระบวนการ มาตรการที่จะใช้แก้ไขปัญหามาโดยตลอด เพื่อที่จะให้ผู้ที่พลาดไปแล้วยังได้มีหนทางที่จะเรียนต่อจนจบ เพื่อประโยชน์ในการประกอบอาชีพของตนเองและต่อสังคม
ในปีพ.ศ. 2559 มีประกาศราชกิจจานุเบกษา ออกพระราชบัญญัติชื่อว่า “พระราชบัญญัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559” เนื้อหาที่เกี่ยวกับเด็กนักเรียนคือ มาตรา 6 ให้สถานศึกษาดําเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ดังต่อไปนี้
(1) จัดให้มีการเรียนการสอนเรื่องเพศวิถีศึกษาให้เหมาะสมกับช่วงวัยของนักเรียนหรือนักศึกษา
(2) จัดหาและพัฒนาผู้สอนให้สามารถสอนเพศวิถีศึกษาและให้คําปรึกษาในเรื่องการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นแก่นักเรียนหรือนักศึกษา
(3) จัดให้มีระบบการดูแล ช่วยเหลือ และคุ้มครองนักเรียนหรือนักศึกษาซึ่งตั้งครรภ์ให้ได้รับการศึกษาด้วยรูปแบบที่เหมาะสมและต่อเนื่อง รวมทั้งจัดให้มีระบบการส่งต่อให้ได้รับบริการอนามัย การเจริญพันธุ์และการจัดสวัสดิการสังคมอย่างเหมาะสม การกําหนดประเภทของสถานศึกษาและการดําเนินการของสถานศึกษาแต่ละประเภท ให้เป็นไป ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กําหนดในกฎกระทรวง
กระทั่งในปี พ.ศ. 2560กระทรวงศึกษาธิการได้เผยแพร่กฎกระทรวง กำหนดประเภทของสถานศึกษาและการดำเนินการของสถานศึกษา ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2561มีสาระสำคัญคือ กำหนดให้สถานศึกษาทุกระดับ ได้แก่ ประถมศึกษา มัธยมศึกษา อาชีวศึกษา และอุดมศึกษา จัดการเรียนการสอนเรื่องเพศวิถีศึกษา และทักษะชีวิต ให้เหมาะสมกับช่วงวัยของนักเรียนนักศึกษา การมีสัมพันธภาพกับผู้อื่น พัฒนาทักษะส่วนบุคคล พฤติกรรมทางเพศ สุขภาวะทางเพศ และมิติทางสังคมและวัฒนธรรมที่ส่งผลกระทบต่อเรื่องเพศ ขณะเดียวกัน ให้จัดหาและพัฒนาผู้สอน ให้มีความรู้ความสามารถ มีทัศนคติที่ดี มีทักษะการสอนที่เหมาะสม เข้าใจจิตวิทยาการเรียนรู้ของนักเรียนหรือนักศึกษา ที่สอดคล้องกับการจัดการศึกษา ถ้าผู้สอนไม่เพียงพอ ให้ประสานงานกับหน่วยงานของรัฐ หรือหน่วยงานของเอกชนที่เกี่ยวข้อง ขอรับการสนับสนุน หรือทำหน้าที่เป็นผู้สอนเพศวิถีศึกษา ทักษะชีวิต และให้คำปรึกษาดังกล่าวให้เหมาะสมและเพียงพอ
อย่างไรก็ตาม สถานศึกษาทุกระดับ ที่มีนักเรียนหรือนักศึกษาซึ่งตั้งครรภ์อยู่ในสถานศึกษา ต้องไม่ให้ออกจากสถานศึกษา เว้นแต่เป็นการย้ายสถานศึกษา ต้องจัดระบบการดูแล ช่วยเหลือ และคุ้มครองที่เหมาะสมและต่อเนื่อง
นางภาณิกา จรูญทองแถม ครูโรงเรียนวัดใหม่สำโรงกล่าวว่า การที่หน่วยงานรัฐออกกฎหมายคุ้มครองเด็กตั้งครรภ์ให้ได้รับสิทธิการศึกษานั้นนับเป็นเรื่องที่ดี ได้ให้ความช่วยเหลือแก่นักเรียนที่ได้ทำผิดพลาด ได้มีโอกาสแก้ตัวและปรับปรุงตัวเองให้ดีขึ้น แต่ตนแนะนำว่า ทางโรงเรียนเองก็ควรมีการจัดอบรมให้ความรู้และจัดทำโครงการเกี่ยวกับการคุมกำเนิดให้มากขึ้น
“นักเรียนที่พลาดแล้วควรปรึกษาครอบครัวหรือครูที่โรงเรียน ไม่ควรคิดแก้ปัญหาคนเดียวและไม่ควรแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เช่น การทำแท้ง แต่ควรปรึกษาบุคคลที่สามารถช่วยเหลือตัวนักเรียนและครอบครัวได้” นางภาณิกากล่าวสรุป
ดังนั้นการแก้ไขปัญหาของนักเรียนที่พลาดตั้งท้องให้ได้เรียนต่อนั้น ควรเป็นการร่วมมือกันในทุกภาคส่วนของสังคมแต่จากข้อมูลดังที่กล่าวไว้ข้างต้น แสดงให้เห็นถึงทิศทางที่ดีขึ้นในการรับมือและแก้ไขปัญหา ซึ่งเชื่อได้ว่าในวันข้างหน้าปัญหานี้จะค่อย ๆ หมดไป จนถึงวันที่นักเรียนที่พลาดตั้งท้องทุก ๆ คน มีโอกาสได้เรียนจนจบ แน่นอนว่าการบรรลุตามเป้าหมายอาจจะยังไม่เกิดขึ้นทันทีในวันนี้ พรุ่งนี้ แต่อนาคตอันสดใสของนักเรียนเหล่านี้ยังคงรออยู่ในวันข้างหน้าอย่างแน่นอนดังสำนวนที่ว่า “ฟ้าหลังฝน” นั่นเอง
Comments