top of page
Writer's pictureBaankluay News

จาก “ไม่มีที่เรียน” สู่ “ไม่มีนักเรียน” ความท้าทายของสถานศึกษา



ในอดีตผู้คนมักกล่าวถึงการขาดโอกาสเข้าถึงและความไม่เสมอภาคทางการศึกษา ด้วยความสำคัญทางการศึกษาจึงทำให้มีผู้กำหนดนโยบายบรรจุประเด็นดังกล่าวไว้ในแผนพัฒนาประเทศ โดยมุ่งให้ประชาชนทุกคนมีโอกาสในการเข้าถึงการศึกษา สร้างความเสมอภาคอย่างทั่วถึงกัน


แต่ปัจจุบันมีสัญญาณบางอย่างที่แม้แต่ผู้ที่ไม่ได้อยู่ในวงการการศึกษาก็เริ่มสังเกตเห็นได้ ไม่ว่าจะเป็นการยุบรวมโรงเรียนระดับประถมและมัธยมศึกษาที่จำนวนนักเรียนลดน้อยลงจนเปิดชั้นเรียนไม่ได้ การปิดตัวหรือขายกิจการของมหาวิทยาลัยเอกชนขนาดเล็ก การเสนอขออนุมัติปิดสาขาวิชาที่ไม่สามารถรับนักศึกษาได้ตามจำนวนขั้นต่ำ ฯลฯ แนวโน้มที่เกิดขึ้นเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหม่


จากผลการวิจัยในต่างประเทศหากสำรวจดูประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกพบปรากฏการณ์ที่คล้ายคลึงกันนี้เกิดขึ้นแล้ว ดังเช่นประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ซึ่งจำนวนนักเรียนมัธยมปลายที่จะเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยลดน้อยลงเกือบครึ่งหนึ่งในช่วงระยะเวลาเพียง 20 ปี ส่งผลให้หลายมหาวิทยาลัยต้องมีการควบรวมและปิดตัวลง ข้อเท็จจริงเหล่านี้มาจากปัญหา ‘การขยายตัวของสถานศึกษามากเกินไป’ รวมไปถึง ‘การลดลงของประชากร’ ซึ่งเป็นแนวโน้มที่เกิดขึ้นกับประเทศพัฒนาแล้ว


ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศสะท้อนภาวะที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทยและมีแนวโน้มจะทวีความรุนแรงขึ้น เมื่อ พิจารณาจากยอดผู้สมัคร Admission กลางประจำปี 2560 ที่มีจำนวนน้อยที่สุดในรอบ 10 ปี โดยมีผู้สมัครทั้งสิ้น 81,230 คน ในขณะที่มหาวิทยาลัยสามารถรองรับนักศึกษาได้ถึง 109,129 คน สาเหตุมาจากอัตราการเกิดที่น้อยลง ปัจจุบันมีเด็กเกิดเพียง 600,000 ถึง 700,000 คนต่อปี เมื่อเทียบกับจำนวน 1,000,000 คนต่อปีเมื่อ 30 ปีที่ผ่านมา นอกจากปัญหาทางด้านการลดลงของอัตราการเกิดของประชากรซึ่งเป็นแนวโน้มเดียวกันเกือบทั่วโลก ทั้งในประเทศพัฒนาแล้วและกำลังพัฒนาและยังมีปัญหาด้านอุปทานของสถานศึกษาซึ่งมีจำนวนมากเกินไปและเปิดสอนในคณะวิชาที่ทับซ้อนกัน แข่งขันกันหาช่องทางสร้างรายได้เพื่อนำมาหล่อเลี้ยงองค์กร


ความท้าทายที่เกิดขึ้นในแวดวงการศึกษาที่จำนวนนักเรียนนักศึกษากลายมาเป็นตัวบ่งชี้สำคัญว่าสถานศึกษาทุกระดับจะอยู่รอดได้ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงหรือไม่? จึงมีการนำกลยุทธ์การบริหารธุรกิจไม่ว่าจะเป็นการตลาดและประชาสัมพันธ์ โดยมหาวิทยาลัยของรัฐที่เก่าแก่และมีชื่อเสียงอยู่แล้วก็จะเน้นการสร้างแบรนด์ของตัวเองให้แข็งแกร่งขึ้นโดยผ่านปริมาณงานวิจัย การเข้าร่วมการประชุมระดับนานาชาติ การแข่งขันทางวิชาการ การให้บริการแก่สังคม ฯลฯ ในขณะที่มหาวิทยาลัยเอกชนบางแห่งนำเสนอหลักสูตรที่แปลกใหม่และเฉพาะทางมากขึ้น เช่น หลักสูตรบริหารธุรกิจที่เน้นเฉพาะเจาะจงลงไปยังธุรกิจหรืออุตสาหกรรม เช่น การบิน การแพทย์ ลอจิสติกส์ ฯลฯ หรือแม้กระทั่งการออกโปรโมชั่นลดค่าเล่าเรียน แจกแท็บเล็ตหรือของสมนาคุณ การเก็บค่าเล่าเรียนแบบผ่อนจ่ายหรือเหมาจ่าย การจัดงานโชว์ให้ความรู้ไปยังโรงเรียน การให้อาจารย์แนะแนวเป็นผู้ชักจูงนักเรียนมาเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยของตน การใช้สื่อสังคมออนไลน์คือสิ่งที่สถานศึกษาในยุคปัจจุบันจำเป็นต้องทำเพื่อความอยู่รอด


อย่างไรก็ตาม เมื่อไม่สามารถบริหารจัดการต้นทุนและควบคุมค่าใช้จ่ายได้ ท้ายที่สุดมหาวิทยาลัยเอกชนและสถานศึกษาขนาดเล็กหลายแห่งต้องปิดตัวไปหรือขายกิจการให้กับนักลงทุนต่างชาติ เนื่องจากสาขาวิชาไม่สามารถหานักศึกษามาเรียนได้ตามจำนวนขั้นต่ำ ผลกระทบจึงเกิดขึ้นกับบุคลากรในสถานศึกษานั้น ๆ ไม่ว่าจะเป็นอาจารย์ พนักงาน เจ้าหน้าที่ ที่แม้แต่สถานศึกษาระดับอุดมศึกษาของรัฐในปัจจุบันใช้การประเมินบุคลากรแบบปีต่อปี เมื่อพบว่าอาจารย์ประจำภาควิชาไม่มีภาระการสอนที่เพียงพอก็นำไปสู่การไม่ต่อสัญญา และเลิกการจ้างพนักงานหรือเจ้าหน้าที่ในภาควิชาหรือคณะวิชาที่ไม่สามารถเปิดหลักสูตรได้


ปัญหาการว่างงานที่จะเกิดขึ้นกับบุคคลากรในแวดวงการศึกษาโดยเฉพาะกลุ่มที่มีอายุงานนานหลายปี ประสบการณ์ที่มีอาจไม่สามารถปรับใช้กับงานในภาคธุรกิจหรืออุตสาหกรรมอื่น ส่งผลให้เกิดการว่างงานเพิ่มขึ้น ในกรณีนี้ ภาครัฐควรให้ความช่วยเหลือด้านการฝึกอบรม การแนะแนวทางอาชีพเพื่อให้บุคลากรกลุ่มนี้มีรายได้ทำให้ไม่ก่อให้เกิดเป็นปัญหาสังคมซึ่งจะกระทบกับเศรษฐกิจของประเทศในท้ายที่สุด



วิกฤตในวงการศึกษาที่เกิดขึ้นอาจไม่ได้มีผลกระทบในเชิงลบแต่เพียงอย่างเดียว เนื่องจากการที่ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ประเทศพัฒนาแล้วที่ได้รับผลกระทบเดียวกันนี้ต่างพลิกวิกฤตเป็นโอกาสในการปฏิรูปการศึกษา โดยการควบรวมทรัพยากรและสาธารณูปโภคทางการศึกษาเข้าด้วยกัน มีการปรับปรุงหลักสูตรให้เข้มข้นทันสมัยได้มาตรฐานและตรงกับความต้องการของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีการผลักดันให้ผู้ที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีไปแล้วกลับมาเรียนในระดับที่สูงขึ้นเพื่อเป็นการยกระดับความรู้ความเชี่ยวชาญเพื่อให้สามารถแข่งขันได้มากขึ้นในระดับสากล


หากจะค้นหาเหตุผลว่าเพราะเหตุใดจำนวนสถานศึกษาจึงมีมากกว่าจำนวนผู้เรียน คงต้องมองย้อนกลับไปหลายสิบปี โดยอ้างถึงวาทกรรมของผู้กำหนดนโยบายให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียมเสมอภาคกัน จึงทำให้สถาบันการศึกษาซึ่งแต่เดิมมีพันธกิจในการผลิตบุคลากรเฉพาะทางเช่น มหาวิทยาลัยราชภัฏซึ่งเดิมเคยเป็นวิทยาลัยครูที่เน้นการผลิตครู หรือมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีซึ่งในอดีตมุ่งเน้นการสอนวิชาช่างเทคนิคต่าง ๆ ก็จำเป็นต้องเปิดหลักสูตรปริญญาตรี หรือมีคณะวิชาซึ่งไม่มีอยู่ในพันธกิจเดิมเพื่อตอบสนองต่อนโยบายให้เด็กทุกคนมีที่เรียน นอกจากนี้รัฐยังช่วยสนับสนุนผู้ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ให้สามารถเข้าเรียนได้ผ่านกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา ซึ่งในกรณีเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษายังพบว่ามีปัญหาผู้กู้ไม่ใช้คืนเนื่องจากเรียนจบแล้วหางานทำไม่ได้ จึงเป็นอีกหนึ่งข้อชี้วัดการเปิดหลักสูตรการสอนที่ไม่ได้มุ่งเน้นสนองตอบความต้องการตลาดแรงงาน หากแต่เป็นการตอบสนองค่านิยมขอให้ได้ใบปริญญาโดยไม่สนใจว่าจะมีงานรองรับหรือไม่


การแก้ไขวิกฤตที่กำลังเกิดขึ้นจึงมีผู้เสนอว่า ควรมีการปรับเปลี่ยนนโยบายปฏิรูปการศึกษา โดยนอกเหนือจากการควบรวมสถานศึกษาและควบคุมจำนวนสถานศึกษาให้มีสัดส่วนเหมาะสมสอดรับกับจำนวนผู้เรียนแล้ว ควรมีการปรับโครงสร้างสถานศึกษาให้ทำการสอนตามพันธกิจดั้งเดิม เช่น มหาวิทยาลัยราชภัฏเน้นการผลิตครู มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีเน้นการผลิตช่างเทคนิค ซึ่งสถาบันการศึกษาดังกล่าวมีความเชี่ยวชาญอยู่แล้ว อีกทั้งต้องมีการปรับเปลี่ยนค่านิยมการศึกษาเพื่อให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญที่ตอบสนองต่อตลาดแรงงานโดยไม่จำเป็นต้องจบปริญญา ดังเช่นในประเทศพัฒนาแล้วประชาชนให้ความสำคัญกับความเชี่ยวชาญในวิชาชีพและจะเรียนต่อในระดับสูงขึ้นเมื่อมีความจำเป็นเท่านั้น ตามแนวความคิดที่ ศาสตราจารย์สมหวัง พิธิยานุวัฒน์ ราชบัณฑิตประเภทวิชาศึกษาศาสตร์ สาขาวิชาศึกษาศาสตร์ทางสารัตถะ ได้นำเสนอไว้ในงานวิจัย โดยเชื่อว่าจะทำให้ปัญหาที่มีสถานศึกษามากเกินจำนวนผู้เรียนกลับสู่สภาวะสมดุล


ทั้งนี้เป็นหน้าที่ของผู้กำหนดนโยบายปฏิรูปการศึกษาที่จะต้องผลักดันให้เกิดการปรับเปลี่ยนโครงสร้างของระบบการศึกษาไทยให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงในหลาย ๆ ด้าน อย่าง ‘การลดลงของจำนวนประชากร’ ซึ่งถือเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง.

86 views0 comments

コメント


bottom of page