top of page
Writer's pictureBaankluay News

บันทึกความทรงจำผ่านกล้องฟิล์ม

‘ภาพถ่าย’ นับเป็นความทรงจำที่สามารถบันทึกเรื่องราวต่างๆในอดีตของเราได้ ยิ่งในปัจจุบันการถ่ายภาพไม่ใช่เรื่องที่ยุ่งยาก ไม่ต้องใช้ความชำนาญ ใช้เทคนิคมากเท่าเมื่อก่อน เนื่องจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ช่วยให้ใครก็สามารถถ่ายรูปได้ง่ายขึ้นเพียงแค่คุณใช้โทรศัพท์ หรือจะเป็นกล้องขนาดเล็กอย่าง Mirrorless ที่สามารถพกพาได้ง่าย สะดวกต่อการบันทึกภาพและเหตุการณ์ในชีวิตประจำวันของเรา แต่ขณะเดียวกันกลับมีกลุ่มคนอีกมากมายที่อยากย้อนไปยังจุดเริ่มต้นของการถ่ายภาพด้วยการใช้ ‘กล้องฟิล์ม’ ที่มีมนต์เสน่ห์กว่ากล้องดิจิทัล


เรามาฟังความคิดเห็นของ ผศ.ณรงศักดิ์ ศรีทานันท์ อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ที่ใช้กล้องฟิล์มแม้ยุคสมัยจะเปลี่ยนไป


ความแตกต่างที่ทันสมัยของกล้องดิจิทัลและความคลาสสิกกล้องฟิล์ม

กล้องดิจิทัลกับกล้องฟิล์มแทบไม่มีอะไรแตกต่างเลยในเรื่องของกลไกลต่างๆ จะแตกต่างกันที่ตัวระบบการประมวลผลของภาพมากกว่า ปกติแล้วการทำงานของกล้องฟิล์มเมื่อภาพที่เราถ่ายเมื่อแสงกระทบกับวัตถุสะท้อนเข้าไปในกล้องผ่านรูรับแสง ผ่านตัวชัตเตอร์สปีดหลังจากม่านชัตเตอร์สปีดมันเปิดเข้าไปแล้ว ในกล้องฟิล์มมันก็จะมีตัววัตถุไวแสงที่เรียกว่าฟิล์ม แล้วฟิล์มก็ทำจากพลาสติก อะซิเตท แล้วเคลือบด้วยน้ำยาไวแสง ซึ่งกระบวนการนี้ยังเป็นพื้นฐานในยุคดิจิทัล สิ่งที่แตกต่างกันคือ ตรงกระบวนการจากชัตเตอร์สปีด มันไม่มีฟิล์มแล้ว สิ่งที่มาแทนคือ อิมเมจเซนเซอร์หรือชิปประมวลผลคอมพิวเตอร์ ตัวแรกของอิมเมจเซนเซอร์ก็คือ CCD ทำหน้าที่ประมวลผลจากภาพที่แฝงมา บันทึกภาพออกมาในเมมโมรี่การ์ด คุณภาพจะดี นอยซ์จะไม่มี อีกตัวคือ ซีมอสก็คือ ชิปคอมพิวเตอร์อีกตัวนึง ข้อดีคือ เวลาประมวลผลจะประมวลผลในตัวของมันเองไม่ต้องมีวงจรประมวลผลแยก ต้นทุนจะถูกกว่า CCD


สุดท้ายแล้วจะพบว่าอุปกรณ์กลไกล ตัวรูรับแสง การทำงานของชัตเตอร์สปีด ในกล้องฟิล์มกับกล้องดิจิทัลจะใช้หลักการเดียวกัน แต่ในสิ่งที่เพิ่มเติมเข้ามาคือ ความสะดวกของผู้ใช้มากกว่า กล้องดิจิทัลมีฟังก์ชั่นให้เลือกใช้มากขึ้นกว่าเดิม เช่น โหมดถ่ายภาพอัตโนมัติ ครีเอทโหมดที่ปรับได้ง่ายกว่ากล้องฟิล์ม เพราะฉะนั้นความแตกต่างในแง่ของฟังก์ชั่นพื้นฐานกล้องดิจิทัลใช้ฟังก์ชั่นเหมือนกล้องฟิล์ม แต่ในขณะเดียวในความดิจิทัลมีการใส่ลูกเล่นเข้าไปในกล้องถ่ายรูปมากกว่า ต้นทุนของผู้ถ่ายภาพไม่มีมากเท่ากล้องฟิล์ม กล้องดิจิทัลจะเห็นความผิดพลาดได้เลยจากการถ่ายภาพ ในขณะที่กล้องฟิล์มเราจะไม่รู้ดูไม่ได้ จะต้องไปล้างฟิล์มก่อนถึงจะเห็นรูปได้


ความแตกต่างกันของกล้องฟิล์มแต่ละรุ่น มันมีหลายแบบ อย่างกล้อง Rangefinder  กล้องจำพวกนี้จะไม่ใช่แบบออโต้ที่สามารถถ่ายได้เลย แต่จะเป็นการปรับหมุนเลนส์เอง เพื่อปรับโฟกัสก่อนที่จะถ่าย Rangefinder จะมีอยู่ 2 ชนิด คือแบบเปลี่ยนเลนส์ได้ ส่วนใหญ่ราคาจะสูง ส่วนที่เปลี่ยนเลนส์ไม่ได้ ก็มีหลายประเภทที่แยกได้อีก ทั้งแบบ Manual ที่ปรับถ่ายได้แบบโปรๆเลย แยกพวกรูรับแสงและความเร็วชัตเตอร์ออกจากกันอย่างอิสระ อีกแบบก็คือ แบบออโต้ แต่ความจริงกล้องฟิล์มไม่ได้มีความแตกต่างกัน มันจะอยู่ที่ตัวฟิล์ม กล้องฟิล์มเขาบอกว่าภาพที่ดี ฟิล์มที่ดีต้องอยู่ละติจูดที่แคบ คือความไวแสงจะต้องต่ำ เพื่อให้ได้ภาพที่ออกมามีสีภาพที่อิ่มตัว งานที่มีคุณภาพจะต้องใช้ฟิล์มที่มีคุณภาพสูง พวกงานถ่ายแฟชั่น งานโฆษณา เพื่อเอาไปตีพิมพ์กับสิ่งพิมพ์เขาจะใช้ฟิล์มที่มี ISO ต่ำ


อนาคตของกล้องฟิล์ม

ปัจจุบันต้องดูถึงผู้ใช้ เพราะในตอนนี้เป็นยุคของดิจิทัล ข้อมูลที่ถูกบันทึกภาพด้วยกล้องดิจิทัลถูกไปนำใช้อะไร ถ้าถูกไปใช้ในงานที่ต้องการความรวดเร็วความสะดวก ความสบาย แน่นอน ในแง่ของผู้บริโภคแล้วก็ต้องใช้ดิจิทัลในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นกล้องที่เป็นดิจิทัลจะเป็นที่นิยมแพร่หลาย แต่ในแง่ของกล้องฟิล์มอนาคตน่าเป็นห่วงเพราะกล้องฟิล์มจะเป็นกล้องทางเลือกมากกว่า หรือเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในงานศิลปะ บุคคลที่ชื่นชอบ ช่างภาพหลายคนยังหลงใหลในตัวฟิล์ม เห็นเกรน เห็นความละเอียดของภาพ โทนของภาพ ที่สำคัญที่สุดเขาว่ากันว่าเลเยอร์ที่อยู่ในฟิล์มมันมีมิติมากกว่าเลเยอร์ที่อยู่บนดิจิทัล


บ้านกล้วยไลฟ์สไตล์จะพาไปพูดคุยกับ พัชราภรณ์ พุฒรุ่ง หรือ โบนัส นักศึกษาวัย 22 ปี ที่หลงใหลในการบันทึกภาพจากกล้องฟิล์ม และมีกล้องฟิล์มหลายชนิด


เสน่ห์ของกล้องฟิล์ม

เป็นความสวยที่ไม่ได้ตั้งใจ เพราะรูปที่ออกมาจะออกมาดีบ้างไม่ดีบ้าง แสงและองค์ประกอบต่างๆไม่สามารถรู้ได้ว่าเป็นยังไง แต่กลับทำให้เรารู้ถึงความรู้สึกในตอนที่กดชัตเตอร์ ณ ตอนนั้นทำให้เรารู้สึกภูมิใจในรูปนั้น ถึงแม้รูปที่ถ่ายออกมาจะไม่ดีก็ตาม ต้องใช้เวลารอ ทั้งการใส่ฟิล์ม ปรับแสงหมุนโฟกัส กดชัตเตอร์ จนกว่าฟิล์มนั้นจะหมดม้วน และจนสุดท้ายนำฟิล์มไปล้างจนมีรูปออกมา อีกทั้งรูปฟิล์มทุกรูปจะมีเกรนที่มีเฉพาะแค่กล้องฟิล์มเท่านั้น ซึ่งนี่แหละทำให้เป็นเสน่ห์ของกล้องฟิล์ม


Yashica Eletro 35 MC - Fuji200 film

Yashica Eletro 35 MC - Fuji200 film

กระแสของกล้องฟิล์ม

ถือว่ามาแรง เป็นช่วงที่คนหันกลับมาเล่นกล้องฟิล์มกันอย่างมาก มีการซื้อขายกล้องฟิล์มกันในเน็ตและร้านค้ามากขึ้น เพราะตัวกล้องฟิล์มถึงแม้ยังเก่าแต่ก็ยังสามารถขายได้เรื่อยๆในตามราคาที่เหมาะสม ในตอนนี้ก็ยังมีร้านที่รับล้างรูปฟิล์มอยู่ บางคนมีการนำกล้องฟิล์มไปใช้ในโอกาสสำคัญ เช่น งานรับปริญญา งานแต่งงาน


ถ่ายภาพฟิล์มครั้งแรก

ตั้งแต่ม.ปลาย เพราะว่าไปค้นเจอกล้องฟิล์มของปู่โดยบังเอิญ เลยลองเอามาเล่นๆดู พบว่าชอบจนสุดท้ายเล่นมาเรื่อยๆ รวมถึงเริ่มตามหากล้องตัวอื่นมาเล่นจนมีหลายตัว บางตัวนั้นก็ซื้อมาเพื่อเก็บสะสมไว้


Olympus pen fv สี Lomo 800 film

pentax panorama 280-p lomography 400 film

ภาพถ่ายใบโปรด

รูปคุณแม่ ถ่ายบนรถบัสที่นิกโก้ ประเทศญี่ปุ่น ในวันนั้นอากาศไม่ค่อยดี มีฝนพรำ แสงน้อย ในวันนั้นใช้กล้อง Yashica electro35 mc ฟิล์ม Fuji superia x-tra400 แต่หลังจากล้างรูปออกมาแล้วองค์ประกอบเป็นที่น่าพอใจมาก เพราะแสงดี สีภาพดี ยิ้มกำลังพอดี ทุกอย่างเลยออกมาลงตัว


กล้องฟิล์มกระแสที่ไม่เคยจางหาย

ตราบใดที่ยังมีคนใช้กล้องฟิล์ม และร้านรับล้างยังไม่หายไป ยังมีการ workshop เผยแพร่การสอนล้างรูป ยังมีฟิล์มขาย ก็ยังจะคงอยู่เสมอ


“ทุกวันนี้ กล้องฟิล์มอาจไม่ได้โด่งดังเหมือนแต่ก่อน..แต่มันไม่เคยหายไปตั้งแต่แรกอยู่แล้ว”

Yashica Electro 35 MC - Fuji200 film


ขอบคุณภาพทั้งหมดจาก พัชราภรณ์ พุฒรุ่ง

433 views0 comments

Comments


bottom of page