top of page
Writer's pictureBaankluay News

เมื่อเครื่องแบบนักเรียนไม่ใช่แค่เรื่องของเส้นใยผ้า


ขอบคุณภาพจาก www.needpix.com

เครื่องแบบนักเรียนไม่ใช่แค่เรื่องของเส้นใยผ้าแต่ยังสะท้อนถึงสถานะและความสัมพันธ์ทางสังคมควบคู่มาด้วยประเด็นคำถามจากการบังคับให้นักเรียนสวมเครื่องแบบจึงเกิดขึ้นว่า "พวกเขามีสิทธิไหมที่จะเลือกว่าควรสวมอะไรมาเรียน?" ทั้งนี้ผู้ที่เกี่ยวข้องจึงไม่ควรมองเพียงแค่สิทธิในการแต่งตัวเท่านั้นแต่ควรคำนึงถึงผลกระทบต่อการปฏิบัติตนในสังคมของเด็กในอนาคตด้วย


ปัจจุบันเหลือเพียง 4 ประเทศในโลกเท่านั้น ที่ยังบังคับนักเรียนและนักศึกษามหาวิทยาลัยให้สวมเครื่องแบบ ได้แก่ เวียดนาม ลาว กัมพูชา และไทย ในทางกลับกันมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุด 200 อันดับแรกของโลก (ตามการจัดอันดับของ Times Higher Education, QS University Ranking และ Webometrics) ไม่มีมหาวิทยาลัยใดเลยที่บังคับนักศึกษาให้สวมเครื่องแบบ ซึ่งในไทยเองก็มีโรงเรียนที่มีการงดสวมเครื่องแบบนักเรียนชั่วคราวอยู่คือ โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เป็นโรงเรียนแห่งแรกแห่งเดียวในไทยที่งดการสวมเครื่องแบบนักเรียนชั่วคราว


ศิริรัตน์ ศิริชีพชัยยันต์ ผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า นักเรียนโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นั้นจะไม่มียูนิฟอร์มการแต่งกายเหมือนโรงเรียนทั่วไป แต่จะเป็นยูนิฟอร์มเฉพาะของโรงเรียนเอง คือ เสื้อยืดคอโปโล มีตราธรรมจักรอยู่ที่กระเป๋าด้านซ้าย ซึ่งนักเรียนจะใส่เฉพาะวันจันทร์กับวันพฤหัสบดี และวันที่โรงเรียนมีกิจกรรมพิเศษเท่านั้น ส่วนวันอื่น ๆ ก็ให้แต่งกายด้วยชุดไปรเวท ซึ่งเรื่องของการแต่งกายนั้นเป็นข้อตกลงร่วมกันระหว่างทางโรงเรียนกับผู้ปกครองตั้งแต่แรก เพราะทุกฝ่ายเห็นว่าการไม่มียูนิฟอร์มจะสะดวกต่อการทำกิจกรรม ส่วนการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนก็แตกต่างจากโรงเรียนในสังกัดของกระทรวงศึกษาธิการ ทำให้ไม่ขัดกับพระราชบัญญัติเครื่องแบบนักเรียน


“เรื่องปัญหาที่เกิดขึ้นจากการงดการใส่ชุดนักเรียนชั่วคราว ยังไม่พบว่ามีบุคคลภายนอกเข้ามาแอบอ้างค่ะ เนื่องจากทางโรงเรียนมีการดูแลความปลอดภัยอยู่เสมอ อยากให้เน้นไปทางประโยชน์ในด้านการใช้สอยที่สะดวกต่อการทำกิจกรรมมากกว่า ที่ทำให้ตัวนักเรียนมีอิสระในการแต่งตัว มีความสุขและสนุกกับการเรียนมากขึ้น ประหยัดค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองที่ต้องจ่ายค่าเสื้อผ้าอุปกรณ์การเรียนให้กับบุตรหลาน ถึงแม้เราจะเปิดโอกาสให้นักเรียนแต่งกายได้อย่างอิสระแล้ว แต่ก็ยังคงมีกรอบเรื่องของความเหมาะสมและการเคารพซึ่งกันและกันอยู่ด้วย โดยกฎของโรงเรียนจะเกิดจากการตกลงร่วมกันระหว่างโรงเรียนกับนักเรียนและผู้ปกครองก่อนเสมอ” ศิริรัตน์กล่าวเสริม


เอกณัฐ อภิลักษณ์พาณิชย์ นักเรียนโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 กล่าวว่า ตนรู้สึกชอบที่โรงเรียนคิดต่าง ให้นักเรียนเป็นอิสระแต่ก็อยู่ภายใต้ระเบียบ ทางโรงเรียนจะไม่เน้นเรื่องการแต่งกาย แต่จะเน้นทางด้านเนื้อหาการเรียน และกิจกรรมเป็นหลัก ปัญหาที่เกิดจากการแต่งกายยังไม่พบเพราะโรงเรียนอนุญาตให้ใส่ชุดไปรเวทได้แต่ต้องอยู่ในระเบียบ สวมกางเกงขายาวสุภาพเรียบร้อยไม่สั้นเกินไป หากผิดระเบียบจะมีคุณครูเข้าไปตักเตือน

กำลังแผ่นดิน พุ่มสีนิล นักเรียนโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 กล่าวว่า ตนรู้สึกเฉย ๆ เนื่องจากโรงเรียนตอนประถมก็ไม่มีการสวมชุดเครื่องแบบ แต่ที่โรงเรียนสาธิตธรรมศาสตร์ก็ไม่ได้มีการไปรเวททุกวัน วันจันทร์และวันพฤหัสบดีจะต้องใส่เสื้อโปโลของโรงเรียน เพื่อให้รปภ.แยกนักเรียนออกจากบุคคลทั่วไปได้ เพราะฝั่งตรงข้ามโรงเรียนมีตลาดในวันดังกล่าว ซึ่งหากมีคนนอกเข้ามาต้องมีบัตร visitor ก่อนถึงจะสามารถเข้ามาภายในโรงเรียนได้

“เรื่องปัญหาจากการแต่งกาย เคยมีเด็กนักเรียนที่เพิ่งเข้ามาใหม่แต่งตัวดูไม่เหมาะสมครับ คุณครูก็จะทำข้อตกลงกับเด็กคนนั้นครับ ขั้นพื้นฐานก็จะเรียกมาคุยครับว่าแต่งแบบนี้อาจจะไม่เหมาะสมนะครับ ลองเปลี่ยนการแต่งตัวดูนะครับ แล้วถ้าเกิดว่ายังมีการแต่งมาแบบเดิมอีกก็จะทำข้อตกลงกับผู้ปกครองครับ” กำลังแผ่นดิน พุ่มสีนิล กล่าว


เสียงสะท้อนเหล่านี้บ่งชี้ว่าผู้ที่เกี่ยวข้องล้วนตระหนักถึงสิทธิที่เด็กพึงได้รับ นอกเหนือไปจากเรื่องราวของเส้นใยผ้า การที่ให้เด็กมีอิสระในการแต่งตัวแต่ยังอยู่ภายในกรอบของความเหมาะสมตามกฎที่มีการตกลงกันระหว่างเด็ก ผู้ปกครองและโรงเรียนนั้น จะทำให้เด็กเข้าใจถึงความเป็นเหตุเป็นผลสามารถเรียนรู้จนกลายเป็นพฤติกรรมการปฏิบัติตนในสังคมภายในอนาคตได้ นี่จึงเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่ทางผู้ปกครองและทางโรงเรียนตระหนักถึงสิทธิการแต่งกายของเด็กนักเรียน ยังคงมีโรงเรียนอีกหลายแห่งที่มองเห็นเครื่องแบบนักเรียนนั้นเป็นเพียงแค่เรื่องของเส้นใยผ้า หากมองย้อนกลับไปเราใช้เครื่องแบบนักเรียนเพื่อสอนระเบียบวินัย หรือปิดกั้นการคิด การใช้เหตุผล และคำนึงถึงความเหมาะสมของเด็กกันแน่

92 views0 comments

Commenti


bottom of page