top of page
Writer's pictureBaankluay News

ศูนย์ DSS ช่วยเหลือนักศึกษาผู้พิการ

ในปี พ.ศ.2551 มีการตรา ‘พระราชบัญญัติการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ พ.ศ.๒๕๕๑’ เพื่อวางกรอบแนวทางในการช่วยเหลือผู้พิการให้ได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียมกับนักเรียนนักศึกษาปกติ


ทั้งนี้ ตามมาตรา 1 ของอนุสัญญาฉบับที่ 159 ของ องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization; ILO) ได้ให้คำนิยามว่า “คนพิการ หมายถึง บุคคลที่ได้โอกาสในความมั่นคง การจ้างงานและความก้าวหน้าในอาชีพที่เหมาะสม ได้ลดลงอย่างมาก ด้วยเหตุที่ความบกพร่องทางร่างกายและจิตใจ” จากคำนิยามดังกล่าว เรียกได้ว่า ผู้พิการ คือ ผู้ที่มีสภาวะไม่สมบูรณ์ทางด้านร่างกายหรือสติปัญญา ซึ่งส่งผลต่อการทำงานและการใช้ชีวิต ย่อมรวมไปถึงการศึกษาเล่าเรียนด้วย เพราะด้วยสภาวะที่บกพร่องนี้ทำให้ผู้พิการไม่อาจเรียนได้แบบคนปกติ


การตราพระราชบัญญัตินี้ขึ้นมาจึงนับเป็นหนทางในการช่วยเหลือให้ผู้พิการได้รับโอกาสทางการศึกษาซึ่งส่งผลต่อความก้าวหน้าในหน้าที่การงานในอนาคต เพื่อตอบสนองต่อพระราชบัญญํติดังกล่าว จึงได้มีการจัดตั้ง ศูนย์บริการและสนับสนุนนักเรียนนักศึกษาพิการ หรือ ศูนย์ DSS (Disability Support ServiceCenter) ขึ้นมาในสถาบันการศึกษาหลาย ๆ แห่ง


ขอบคุณภาพจาก freepik.com

จากเว็บไซต์ศูนย์ให้บริการและสนับสนุนนิสิตพิการ มหาวิทยาลัยพะเยา  ได้แสดงวิสัยทัศน์ในการจัดตั้งและดำเนินงานของศูนย์ดังกล่าวไว้ว่า ศูนย์มุ่งมั่นให้บริการนิสิตผู้พิการเพื่อจะได้ดำเนินชีวิตและศึกษาเรียนรู้ รวมทั้งอยู่ร่วมกับสังคมได้อย่างมีความสุข สามารถที่จะกระทำและศึกษาในบทบาทของตนเองได้อย่างมีคุณภาพเท่าเทียมกับผู้อื่นที่มิได้ทุพลภาพ ใจความนี้ปรากฏอยู่ในวิสัยทัศน์และพันธกิจของศูนย์ที่มีอยู่ในสถาบันการศึกษาทุกแห่ง จึงเรียกได้ว่าความมุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือผู้พิการให้ได้ศึกษาและใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้เพื่อที่จะให้เกิดความเชื่อมั่นในตนเองว่า ตนไม่ใช่ตัวประหลาดของสังคมคือแนวคิดหลักของการจัดตั้งศูนย์นี้ขึ้นมา 


แต่ในระยะแรก มีเพียงสถาบันระดับอุดมศึกษา เช่น มหาวิทยาลัยรัฐ หรือ มหาวิทยาลัยเอกชน เท่านั้นที่มีการจัดตั้งศูนย์ขึ้นมา


จนกระทั่ง จากโครงการประชุมสัมมนาการจัดการอาชีวศึกษาสำหรับคนพิการ ประจำปีงบประมาณ 2561นายพีระพล พูลทวี ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวในพิธีเปิดโครงการว่า “เพื่อให้การจัดการศึกษาสำหรับคนพิการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สอศ.ได้มีการจัดตั้งศูนย์ประสานงานการจัดการอาชีวศึกษาเพื่อคนพิการขึ้นเป็นหน่วยงานเฉพาะกิจภายใน และมีการตั้งศูนย์บริการสนับสนุนนักเรียน นักศึกษาพิการ หรือ Disability Support Services Center (DSS) จำนวน 5 ศูนย์ เป็นสถานศึกษาแกนนำจัดการอาชีวศึกษาเพื่อคนพิการ ซึ่งที่ผ่านมาก็สามารถผลิตกำลังคนพิการให้มีอาชีพมีงานทำเป็นเชิงประจักษ์ของสังคมและเครือข่ายทางการศึกษา ซึ่งการประชุมสัมมนาครั้งนี้จะเป็นการขับเคลื่อนขยายโอกาสทางการศึกษาให้คนพิการเข้ามาเรียนในหลักสูตรอาชีวศึกษาเพิ่มขึ้น” นับได้ว่าเป็นครั้งแรกของการจัดตั้งศูนย์ DSS ในสถาบันระดับอาชีวศึกษา โดยมี วิทยาลัยการอาชีพพุทธมณฑล วิทยาลัยเทคนิคบางแสน วิทยาลัยสารพัดช่างเชียงใหม่ วิทยาลัยสารพัดช่างนครหลวง และวิทยาลัยสารพัดช่างสุรินทร์ เป็น 5 สถานศึกษาแกนนำจัดการอาชีวศึกษาเพื่อคนพิการ ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา


นางสุวรรณา จันทร์เพชร หัวหน้าศูนย์ DSS วิทยาลัยสารพัดช่างนครหลวง กล่าวว่า ศูนย์ DSS นับเป็นส่วนสำคัญสำหรับสถาบันการศึกษาที่มีผู้พิการเรียนรวม โดยศูนย์มีหน้าที่ในการช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกทั้งด้านการเรียนและการใช้ชีวิตในรั้วสถาบันให้แก่นักเรียนนักศึกษาที่

เป็นผู้พิการ ซึ่งศูนย์จะประสานงานกับครูผู้สอนในการจัดวิธีการเรียนการสอนที่เหมาะสมต่อนักศึกษาผู้พิการแต่ละคน เพื่อให้สามารถเรียนรวมกับนักศึกษาปกติได้อย่างทัดเทียมกัน 



นายธนภัทร เลาหประเสริฐ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้พิการด้านร่างกาย (ใช้วีลแชร์) กล่าวว่า รู้สึกประทับใจต่อการเข้ามาดูแลช่วยเหลือทั้งจากศูนย์และทางสถาบัน ยกตัวอย่างรถวีลแชร์ที่ตนใช้อยู่ทุกวันนี้ก็เป็นของที่สถาบันจัดหามาให้ ทางศูนย์ดูแลนักศึกษาผู้พิการเหมือนเป็นครอบครัว ทำให้ไม่รู้สึกเหงาหรือแปลกแยกในการเข้ามาเรียนที่นี่ “ส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องดีที่ในสถาบันต่าง ๆ มีศูนย์ที่คอยบริการช่วยเหลือผู้พิการ คนที่ไม่มีโอกาส ที่เป็นผู้พิการในด้านต่าง ๆ ก็จะกล้าเข้ามาศึกษามากขึ้น เพราะได้ความมั่นใจว่าการมีศูนย์จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ลดความแปลกแยก และได้ความสบายใจว่าความพิการของตนเองจะไม่เป็นอุปสรรคในการศึกษา”  


ในปัจจุบัน มีศูนย์ DSS ให้บริการในสถาบันการศึกษาหลายแห่ง มีการพัฒนาการให้บริการอย่างต่อเนื่อง เพราะทั้งผู้บริหารสถาบันการศึกษา คณะครู กลุ่มเจ้าหน้าที่และคณะบุคคลที่เกี่ยวข้องต่างตระหนักดีว่า การช่วยเหลือนักศึกษาผู้พิการให้เกิดการยอมรับในตัวตนและตระหนักรู้ถึงคุณค่าของตนเองเพื่อประโยชน์ต่อชีวิตและต่อสังคม คือจุดมุ่งหมายที่สำคัญที่สุด ดังความตอนหนึ่งในพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ความว่า “งานช่วยเหลือผู้พิการมีความสำคัญยิ่ง เพราะว่าผู้พิการไม่ได้อยากที่จะเป็นผู้พิการ แต่อยากช่วยตนเอง ถ้าเราไม่สามารถช่วยเขาให้สามารถที่จะปฎิบัติงานเพื่อมีชีวิตและมีเศรษฐกิจของครอบครัว จะทำให้เกิดสิ่งที่หนักในครอบครัว หนักแก่สังคม ฉะนั้น นโยบายที่จะทำก็คือ ช่วยเขาให้เขาช่วยตัวเองได้ เพื่อที่จะให้เขาสามารถเป็นประโยชน์ต่อสังคม” (พระราชดำรัส พระราชทานแก่คณะกรรมการมูลนิธิอนุเคราะห์คนพิการในพระราชูปถัมภ์ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน วันศุกร์ที่ 22 มีนาคม พ.ศ.2517)

232 views0 comments

Comments


bottom of page