‘แม่นายเจ้าขา’ คำติดหูชาวสยาม บ่าวใช้ขานเรียกแม่นาย วาจาฉงนชวนแปลกใจ ยุคสมัยใดใช้เรียกกัน จากคำกล่าวกลายมาเป็นข้อสงสัยภายในหัวของผมที่ยังคิดเสมอว่าคนในอดีตมีความเป็นอยู่อย่างไร เพราะภาษามีความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แม้กระทั่งการแต่งกาย บ้านเรือน ยังผิดแปลกจากเดิม เพื่อค้นหาคำตอบและไขข้อสงสัยนี้ วันนี้ผมจะพาไปรู้จักและสัมผัสกับเมืองแห่งหนึ่ง ที่มีนามว่า ‘มัลลิกา ร.ศ.124’
เมืองมัลลิกา ร.ศ.124 คือเมืองจำลองในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา สถานที่แห่งนี้อาจเป็นคำตอบที่ไขข้อสงสัยทั้งหมดของคนยุคปัจจุบันแบบผม เป็นจุดเริ่มต้นของความเป็นอยู่ของชาวสยาม มีการประกาศเลิกทาส ทาสเริ่มมีการหาเลี้ยงชีพด้วยตนเอง ทำมาค้าขายตามต้องการ แต่สงสัยไหม? ทำไมผมถึงยังยก คำว่า ‘แม่นายเจ้าขา’ มาใช้ในเมื่อเลิกทาสแล้ว ก็เพราะยังมีทาสส่วนที่ใคร่จะอยู่ภายใต้อาณัติของนาย เนื่องจากมีความสุข ความสบาย ไม่ต้องดิ้นรน จากเหตุการณ์นับเป็นจุดเปลี่ยนความเป็นอยู่ของคนไทยจากอดีตสู่ปัจจุบันในด้านเสรีภาพทางความคิด การแสดงออกและความต้องการ
ก้าวแรกที่เดินเข้าไปบริเวณภายในเมืองแห่งนี้ สิ่งแรกที่ผมเห็นคล้ายกับบ้านทรงไทยอยู่กลางแม่น้ำ แต่พอเดินเข้าไปใกล้กลายเป็นสะพานที่มีหลังคาทรงสูงแบบบ้านทรงไทยสมัยก่อน ชาวบ้านเรียกว่า ‘สะพานหัน’ ตัวสะพานสามารถหันไปมาเพื่อให้เรือแล่นผ่าน มีลักษณะเป็นไม้โค้งกว้าง ทั้งสองฟากมีร้านค้าเล็ก ๆ ขายผลไม้แห้ง ผลไม้สดที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ ในขณะที่ผมเดินผ่าน สังเกตเห็นร้านผลไม้ที่มีคุณป้าท่านหนึ่งนั่งปอกเปลือกส้มโอ ผมถึงกับแปลกใจทำไมส้มโอถึงมี สีแดงกับสีขาว จึงเอ่ยปากถามคุณป้าท่านนั้นว่า ‘คุณป้าครับ ส้มโอสีแดงนี่คือส้มโออะไรครับ’ คุณป้าตอบว่า ‘ส้มโอพันธุ์ทับทิมสยามเจ้าค่ะ สีแดงปอกยากเปลือกติดกับเนื้อ ส่วนสีขาวเปลือกหนาปอกง่ายกว่าเจ้าค่ะ’ มีเสียงคุณป้าอีกท่านได้พูดขึ้นว่า ‘ส้มโอที่นำมาขายในเมืองนี้เป็นส้มโอจากต้นที่ปลูกเอง ใส่ปุ๋ยและดูแลรดน้ำ จนออกผลแล้วขายได้เจ้าค่ะ’
ผมยังคงเดินชมเมืองแห่งนี้ต่อ แต่มาสะดุดกับชื่อ ถนนแพร่งนารา แพร่งภูธร แพร่งสรรพศาสตร์ อ่านชื่อแล้วอย่าตกใจ ไม่ใช่ทางไม่ดีแต่อย่างใด แต่เป็นย่านการค้าที่แบ่งออกเป็น 3 แพร่งในสมัย ร.ศ.124 ซึ่งปัจจุบันรู้จักกันในนามว่า ย่านเยาวราช และ ย่านบางรัก ในสมัยก่อนย่านการค้านี้จำหน่ายสินค้าหลากหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นอาหารคาวหวาน ของทานเล่นรวมถึงขนมโบราณ และสินค้าทันสมัยในยุคสมัยนั้น ตัวผมเป็นคนชื่นชอบกินขนมจึงอดใจไม่ไหวที่จะลิ้มลองขนมไทยโบราณอย่าง จ่ามงกุฎ ทองเอก และเสน่ห์จันทร์ มีรูปลักษณ์สีเหลืองทองอร่าม แถมรสชาติชวนค้นหา กลิ่นหอมติดจมูก คล้ายโดนมนต์เสน่ห์ชวนหลงใหล ว่ากันว่าขนมไทยเหล่านี้ยังเป็นขนมมงคลอีกด้วย ในระหว่างที่ผมกำลังดื่มด่ำกับรสชาติขนมไทยมีเสียงพี่ท่านหนึ่งพูดขึ้นว่า ‘เป็นไงล่ะ อร่อยและหอมกว่าที่อื่นใช่ไหม ถ้าคิดถึงความดั้งเดิมต้องที่นี่’ ผมหันกลับพร้อมยิ้มตอบด้วยความปลื้มปริ่มของรสชาติ ผมยังรู้มาอีกว่าขนมไทยจากที่นี่ใช้วัตถุดิบและวิธีการทำคงความไทยโบราณไว้ เพื่อใส่ใจพร้อมเสิร์ฟให้คนยุคสมัยใหม่ได้สัมผัสถึงรสชาติที่มีมานมนานอย่างแท้จริง
สิ้นสุดย่านการค้าเดินข้ามสะพานสีขาวที่ทำจากปูน สิ่งที่ตั้งตระหง่านอยู่ตรงหน้าเป็นเรือนไม้ขนาดใหญ่เหมือนในละครไทยสมัยก่อน มีใต้ถุนสูง ขึ้นบันไดจะเป็นลานโล่งกว้าง มีต้นไม้ตั้งอยู่ตรงกลางและมีห้อง 3 ห้องรอบตัวบ้าน ทั้งเรือนจะเห็นผู้คนแต่งกายชุดไทย นั่งร้อยมาลัย ผมนึกสงสัยว่าที่ตรงบริเวณนี้คืออะไร สอบถามจากพี่ที่กำลังนั่งร้อยมาลัยอยู่ จึงได้คำตอบว่า ‘ที่นี่คือเรือนคหบดี เป็นเรือนของชนชั้นที่มีฐานะ จะมีกิจกรรมบนเรือน พวกงานใบตอง งานดอกไม้ และงานเครื่องแขวน ที่น้องเห็นเป็นการร้อยมาลัย มีการสอนสำหรับคนที่สนใจ ส่วนข้างล่างใต้ถุนเรือนจะเป็นการการทำเครื่องแขวนและใบตองต่าง ๆ’ ในขณะเดียวกันผมสังเกตว่า ทุกคนล้วนพิถีพิถันกับงานที่ได้รับมอบหมาย จึงไม่แปลกใจสำหรับผลงานที่ออกมามีความประณีตและนำไปใช้งานได้จริง
โรงครัวที่สุดท้ายที่ผมก้าวเข้ามา เป็นลักษณะเหมือนลานโล่ง ๆ แต่มีหลังคาที่มุงด้วยหญ้าแฝก สิ่งที่ผมพบภายในโรงครัวชิ้นแรกคือ เครื่องสีข้าวที่ใช้แรงคนผลักแบบโบราณ เป็นเครื่องจักรสาน มีลักษณะคล้ายกระบุงขนาดใหญ่ มีไม้หมุนเพื่อเสียดสีข้าว ข้าวที่สีจะตกลงมาใส่เข่งข้างล่างที่รองไว้ ต่อมาคือกระด้งสำหรับฝัดข้าวและครกตำข้าวที่ใช้แรงเหยียบของคน พอเดินลึกเข้าไปข้างใน เห็นครัวที่เรียกว่า ครัวปรุง ครัวเตรียม แม่ครัวใช้สำหรับประกอบอาหารคาวหวานเลี้ยงผู้คนจำนวนมาก โดยการประกอบอาหารทุกอย่างจะใช้เป็นเตาถ่าน เตาฟืน รวมถึงที่เป็นถ้วย ชาม ภาชนะที่ใส่อาหารทำจากสังกะสี สิ่งที่คุ้นตาคือช้อนสีเขียวสังกะสีที่หลาย ๆ คนเคยเห็นตามบ้านคุณตาคุณยาย แต่สิ่งที่อาจไม่คุ้นตา น่าจะเป็นช้อนไม้ที่ทำจากกะลามะพร้าว ในขณะที่แปลกตาแปลกใจกับหลายสิ่งที่ไม่เคยเห็น มีคุณตาท่านหนึ่ง เดินเข้ามาชวนให้ไปทานข้าวตังก้นหม้อ คุณตาบอกว่า ‘กว่าจะเป็นข้าวตังก้นหม้อใช้เวลานาน หลังจากหุงข้าวสุกด้วยกระทะเสร็จ ต้องรอข้าวที่เหลือก้นหม้อแห้ง แล้วปรุงรส นำมะพร้าวขูดใส่’ รสชาติที่ได้นั้น เค็มที่เนื้อมะพร้าว หวานตัวข้าวที่ทาน้ำตาล มองไปรอบ ๆ ยังมีการประกอบอาหารอื่น ๆ ในโรงครัว เพื่อรับรองแขกในเมืองมัลลิกา
สิ่งที่ผมสังเกตตั้งแต่ก้าวเข้ามาในเมืองแห่งนี้ คือรอยยิ้มจากผู้คนที่คอยต้อนรับให้การสนับสนุนแก่ผู้ที่มาเยือน และท้ายที่สุดความฉงนสงสัยของผมได้ถูกคลี่คลายลง ผมพบคุณค่าบางอย่างที่ปัจจุบันอาจดูเหมือนสูญหายไปแต่ความจริงเป็นเพียงแค่ถูกลืมเลือนเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของวัฒนธรรมทางด้านภาษา การแต่งกาย และความเป็นอยู่ สะท้อนให้เห็นถึงเอกลักษณ์ที่มีมายาวนานและแสดงให้เห็นถึงรากฐานของคนไทยอย่างแท้จริง ล้วนเป็นสิ่งล้ำค่าที่ควรรักษาให้แก่คนรุ่นหลังสืบไป
Comments