หากนึกถึงผ้าไทย จะคิดถึงผ้าที่ใส่ได้ยากในชีวิตประจำวัน อาจดูไม่ทันสมัยและต้องใส่เนื่องในโอกาสพิเศษเท่านั้น เพราะบนผืนผ้ามีลวดลายอันสวยงาม ละเอียดอ่อน สะท้อนถึงความอ่อนช้อยให้กับผู้ที่สวมใส่ สุภาพเหมาะแก่การออกงาน แต่ทัศนคตินี้เป็นเพียงแค่ความคิดในอดีตเท่านั้น เมื่อคนรุ่นใหม่มีความคิดริเริ่มนำเส้นใยธรรมชาติที่เกิดจากไหม ฝ้าย หรือแม้พืชที่ถักทอเป็นผืนได้ มาประยุกต์กับการปรับเปลี่ยนรูปแบบผ้าไทยให้ใส่ได้ทุกวัน ด้วยการผสมผสานความเป็นแฟชั่นที่สามารถนำมาสวมใส่ได้ง่าย แถมยังให้ความสบาย จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างรายได้ และเกิดแบรนด์เสื้อผ้าที่ทอด้วยมือจากเส้นใยธรรมชาติถือกำเนิดผ้าไทยในรูปแบบใหม่ แต่ยังคงเอกลักษณ์ความเป็นไทยไว้ เราจึงพามาเยือนเมืองเชียงใหม่ เพราะสะดุดกับแบรนด์ Run Ga Run (รันการัน) ซึ่งทำทุกอย่างตั้งแต่กระบวนการผลิตวัสดุ จนกระทั่งออกแบบเป็นชิ้นงาน
ร้านรันการันตั้งอยู่บนถนนวัวลาย ซอย 3 เรามีโอกาสพูดคุยกับเจ้าของแบรนด์ คือ “พี่รุ่ง หรือ รุ่งอรุณ ยารังฝั้น” จบการศึกษาในระดับปริญญาตรี สาขาผ้าและออกแบบเครื่องแต่งกาย ปริญญาโทด้านการจัดการอุตสาหกรรม บอกเล่าถึงจุดเริ่มต้นจนพัฒนามาเป็นแบรนด์ของตนเองว่า “ตนได้เข้าไปทำงานในกรุงเทพฯมาก่อนตามสายงานที่เรียนมา แต่ทำงานได้สักพักอยากกลับมาประกอบอาชีพที่บ้าน จึงเกิดการสร้างแบรนด์รันการันขึ้นมา เดิมทีทางบ้านทำเกษตรอินทรีย์ ครอบครัวเป็นเกษตรกร มีพื้นที่ในการปลูกพืชผัก”
พี่รุ่งจึงขอพื้นที่บางส่วนมาปลูกพืชที่ใช้ย้อมผ้า จำพวกคราม เป็นสีย้อมผ้าที่มีสีน้ำเงินเข้ม ยังมีสีธรรมชาติอื่น ๆ เช่น สีชมพูจากการย้อมครั่ง สีน้ำตาลจากผลมะเกลือ และสีเหลืองจากใบสมอไทย เป็นต้น รวมถึงชนิดผ้าที่ใช้คือ ผ้าใยกันชง ผ้าฝ้าย ผ้าลินิน ล้วนเป็นเส้นใยธรรมชาติร้อยเปอร์เซ็นต์ที่นำมาใช้ทอ
ในการทำผลิตภัณฑ์จากเส้นใยธรรมชาติ พี่รุ่งอธิบายว่าของทุกชิ้นที่ทำขึ้นมาว่า มีการออกแบบให้ใส่ได้ในชีวิตประจำวันได้จริงเป็นหลัก ไม่ได้อิงถึงกระแสมากนัก แต่อยากให้ออกมาในมุมที่มองแล้วไม่เบื่อและยังกลับมาใส่ได้เรื่อย ๆ นำความทันสมัยมาเพิ่มเป็นลูกเล่นบางส่วน โดยไม่มีกรอบว่าต้องออกแบบงานมาให้กับคนเฉพาะกลุ่ม แต่ออกแบบให้กับทุกคน งานจากเส้นใยธรรมชาติไม่ได้มีแค่เสื้อผ้าเท่านั้น ยังมีในส่วนของ กระเป๋า หมวก ให้เป็นอุปกรณ์เสริมในการแต่งตัวให้ออกมาเป็นสไตล์ความชอบของแต่ละบุคคล ที่ร้านมีหมวกหลากหลายรูปแบบ ทั้งทรงเบเร่ต์ ปีกกว้าง ออกลวดลายที่เรียบใส่ได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิง เข้ากับเสื้อผ้าได้ทุกชุด และกระเป๋าที่ทอมือที่มักจะติดภาพของทรงถุงผ้าหรือย่ามสะพายข้างเท่านั้น แต่ทางร้านได้ประยุกต์ทรงกระเป๋าให้มีหลายรูปแบบทั้งแบบเป้ แบบถือเพื่อความทันสมัยของชิ้นงานยิ่งขึ้น
บริเวณชั้นบนของร้านเปิดสอนสำหรับผู้ที่สนใจงานผ้าไทย ในวันนั้นเราได้พูดคุยกับนักเรียนที่จบจากสาขาสิ่งทอและมาเรียนรู้งานจากพี่รุ่ง ขณะที่เขากำลังจดจ่อทำบางอย่างบนผ้าสีน้ำตาล ด้วยการร่างดินสอเป็นลวดลายอย่างตั้งใจ พร้อมสอบถามว่า “นี่ใช่การออกแบบลวดลายใช่หรือเปล่า ?” คำตอบที่ได้คือ “ใช่แล้ว ลวดลายพวกนี้ออกแบบด้วยมือ แต่สิ่งที่ทำอยู่คือการวาดลายเดิมซ้ำลงบนผืนผ้าใหม่ เพราะทุกชิ้นวาดด้วยมือหมดเลย” เราถามต่ออีกว่า เป็นลายเดียวกันแต่ทำไมไม่ใช้การพิมพ์จะได้แม่นยำและออกมาเหมือนกันทุกชิ้น? คำตอบที่ได้รับคือ “ถึงจะเป็นลายเดิมแต่คือความตั้งใจทำให้ไม่เหมือนเดิมเท่าไหร่ อยากให้แสดงถึงเอกลักษณ์ของงานฝีมือ และถือว่าเป็นงานที่เกิดจากความตั้งใจทุกชิ้น ทำให้งานออกมามีชิ้นเดียวในโลก คนที่ได้รับจะรู้สึกว่าสำคัญกับตัวเขามาก” จากคำตอบทำให้เรารู้ว่างานฝีมือนั้นมีความหมายอย่างมากจากผู้ที่ทำขึ้นมา
นอกจากนั้นบริเวณดังกล่าวนี้ ยังเต็มไปด้วยอุปกรณ์ที่จะนำมาทำเป็นชิ้นงาน ทั้งกระดุมไม้ ผ้าสีที่ย้อมแล้ว และลวดลายที่เอามาตกแต่งบนกระเป๋า หมวก จนทำให้เราตั้งข้อสงสัยว่า กว่าจะได้งานแต่ละชิ้นใช้เวลานานแค่ไหน ? ”ต้องขึ้นอยู่กับรายละเอียดของงาน จะใช้เวลาไม่เท่ากัน ทำให้ฉุกคิดว่ามันไม่ใช่เรื่องง่ายที่อยู่ ๆ จะทำแบรนด์ขึ้นมาเองได้ ต้องอาศัยความพยายาม ความมีวินัยและใจรักในงานที่ทำ เพราะทุกอย่างล้วนเป็นงานละเอียดอ่อนด้วยฝีมือ ใช้สมาธิในการทำงานอย่างมาก” น้องนักเรียนเล่าให้ฟังขณะเดียวกันก็ยังคงทำงานอย่างมุ่งมั่น
ก่อนจะก้าวออกจากร้าน ได้มีโอกาสคุยกับพี่รุ่งอีกครั้งในเรื่องของการนำผ้าไทยจากเส้นใยธรรมชาติมาทำเป็นชิ้นงานต่างๆ ในมุมกับคนสมัยใหม่ที่ยังมองว่า การยึดติดกับคำว่าผ้าไทย ผ้าทอมือ ใส่ยากในชีวิตประจำวัน แต่จริง ๆ แล้วผ้าทอมือ มองด้วยตาเปล่าอาจใส่ไม่สบาย อยากให้เปลี่ยนความคิดใหม่ การประยุกต์ให้ใส่ได้ในชีวิตประจำวัน ตัวผ้าจะมีความระบาย และรู้สึกสบายให้ความเย็นกับผู้สวมใส่ได้ บางคนอาจมองว่ามันไม่ทันสมัย แต่มันคือความชอบของแต่ละบุคคล ต้องเอาชนะใจด้วยการที่ไม่ทำตามใคร ไม่ทำตามแบบที่มีอยู่แล้ว ทำให้ราคาเหมาะสมกับชิ้นงานเข้าถึงได้ทุกกลุ่มตั้งแต่วัยเรียนจนถึงวัยทำงาน สร้างเอกลักษณ์ให้กับสิ่งที่ทำแล้วคนจะมองเห็นและยอมรับในตัวชิ้นงาน
มุมความคิดเดิมของการใช้ผ้าไทยในอดีตมักจะเป็นชุดทางการ แต่เมื่อนำมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ในชีวิตประจำวันก็ถือเป็นเรื่องที่ดี นอกจากจะทำให้เกิดจุดสนใจในความเป็นไทยที่สร้างความร่วมสมัยให้กับผู้บริโภคแล้วสามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้นอีกด้วย สุดท้ายไม่ว่าผ้าไทยจะอยู่ในรูปแบบใด แต่ความเป็นเอกลักษณ์ยังคงอยู่ในรูปแบบเดิมไม่เปลี่ยนแปลง
Comments