ในช่วงวันหยุดยาวฉันเดินทางไปยัง จ. เชียงรายเพื่อตามหาศิลปะแปลกใหม่ ที่สามารถเข้าถึงพระพุทธศาสนาได้อย่างถ่องแท้ จนพบกับวัดแห่งหนึ่งที่ใช้ศิลปะไทยประยุกต์ สีขาวสะอาดตา ประดับประดาด้วยกระจกแวววาว บริเวณโดยรอบเป็นสระน้ำที่มีฝูงปลาแหวกว่ายอย่างเป็นอิสระ ท่ามกลางผู้ศรัทธาที่หลั่งไหลเดินทางมาชมความงดงามและแปลกตาในงานวิจิตรศิลป์ ของศิลปินแห่งชาติที่มีชื่ออย่าง อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์
เริ่มตั้งแต่ป้ายชื่อ “วัดร่องขุ่น” ที่บรรจงปั้นด้วยความประณีต อันสะท้อนถึงความงดงามทางศิลปะ จนมาถึงพระอุโบสถสีขาวที่ตั้งตระหง่านอยู่ภายในบริเวณวัด และรายล้อมกับงานศิลปะอื่น ๆ ที่ผู้มาเยือนไม่ควรพลาดในการเยี่ยมชมและเรียนรู้หลักธรรมทางพุทธศาสนาผ่านแหล่งศรัทธาแห่งนี้
อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ผู้ก่อตั้งวัดร่องขุ่น อธิบายถึงแรงบันดาลใจในการสร้างวัดว่า มาจาก ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ โดยมีพระอุโบสถสีขาว เป็นจุดเด่นที่เปรียบดั่งสรวงสวรรค์ สะท้อนถึงความบริสุทธิ์คุณของพระพุทธเจ้า และกระจกแวววาว สะท้อนถึงพระปัญญาธิคุณของพระพุทธเจ้า ที่เปล่งประกายมายังโลกมนุษย์ เมื่อเข้าไปชมภายในโบสถ์ จะเห็นภาพของพระพุทธเจ้า ที่อยู่ด้านหลังของพระประธานองค์ใหญ่ ซึ่งเป็นภาพที่มีความวิจิตรงดงาม ประดุจว่าเราได้มาเยือนยังสรวงสวรรค์แล้ว
ภายในบริเวณวัดยังประกอบไปด้วยงานศิลปะที่แฝงคำสอนทางพระพุทธศาสนา ถูกสรรสร้างขึ้นมาตาม
ความหมายต่าง ๆ เริ่มตั้งแต่ก่อนเดินขึ้นสะพาน จะเห็นว่ามีครึ่งวงกลมวงเล็กอยู่ยังพื้นที่ที่เรายืนอยู่ซึ่งหมายถึง โลกมนุษย์ ต่อมาคือวงกลม วงใหญ่ มีมือจากเบื้องล่างยื่นขึ้นมา อันหมายถึงขุมนรกที่แทนความทุกข์ เขี้ยวอันใหญ่เป็นปากของพญามาร หรือพระราหู หมายถึง กิเลสในใจของมนุษย์
ดังนั้นก่อนที่เราจะไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า จึงต้องปลดปล่อยความทุกข์ กิเลส ตัณหาของตนเองทิ้งลงไป ในปากของพญามารเสียก่อน เพื่อเป็นการชำระล้างจิตใจ ให้บริสุทธิ์ผุดผ่อง ดุจแก้วอันใสสะอาด เพื่อจะได้เริ่มก้าวเท้า เดินข้ามสะพานไปยังโบสถ์ที่เปรียบดั่งสรวงสวรรค์ชั้นดาวดึง
หลังจากเดินผ่านขุมนรกนรกแล้ว เราจะเข้าสู่การเดินข้ามวัฏสงสารเพื่อมุ่งสู่พุทธภูมิ จะเห็นว่า บนสันหลัง ของสะพานมีรูปปั้นอสูรอมกัน เปรียบดั่งอุปกิเลส 16 ที่ทำให้ใจเราเศร้าหมอง จากนั้นก็จะถึงกึ่งกลางสะพาน เปรียบดั่งเขาพระสุเมรุ ที่อยู่ของเทวดา ด้านล่างเป็นสระน้ำ หมายถึง สันดรมหาสมุทร มีสวรรค์ตั้งอยู่ 6 ชั้น ผ่านสวรรค์ชั้นที่6 เดินลงไปสู่แผ่นดินของพรหม 16 ชั้น แทนด้วยดอกบัวทิพย์ 16 ดอก รอบอุโบสถ ดอกที่ใหญ่สุด 4 ดอก ตรงทางขึ้นด้านข้างโบสถ์ หมายถึง ซุ้มพระอริยเจ้า 4 พระองค์ ประกอบด้วย พระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์ ซึ่งเป็นสงฆ์สาวกที่เราควรกราบไหว้บูชา
ก่อนขึ้นบันได ครึ่งวงกลม เปรียบเสมือน โลกุตตรปัญญา บันไดทางขึ้น 3 ขั้น แทน อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จากนั้นจึงขึ้นไปสู่แผ่นดินของอรูปพรหม 4 แทนด้วย ดอกบัวทิพย์ 4 ดอก และบานประตู 4 บาน บานสุดท้าย เป็นกระจกสามเหลี่ยม แทนความ ว่างหรือความหลุดพ้น เพื่อก้าวข้ามธรณีประตูเข้าสู่พุทธภูมิ ภายในประกอบ ด้วยภาพเขียนโทนสีทองทั้งหมด บริเวณผนัง 4 ด้าน เพดาน และพื้น ล้วนเป็นภาพเขียนที่แสดงถึงการหลุดพ้น จากกิเลสมารมุ่งเข้าสู่โลกุตตรธรรม
เมื่อมองขึ้นไปบนหลังคาโบสถ์จะเห็นถึงหลักธรรม คำสอนของการฝึกปฏิบัติจิต นั่นคือ ศีล สมาธิ ปัญญา อันจะนำพาเราไปสู่ความว่างหรือการหลุดพ้น บนหลังคาประกอบไปด้วย ช่อฟ้าเอก หมายถึง ศีล โดยใช้สัตว์ 4 ชนิดแสดงถึงธาตุทั้ง4 ช้าง เปรียบเสมือน ดิน นาค เปรียบเสมือน น้ำ ปีกหงส์ เปรียบเสมือนลม และหน้าอกสิงห์เปรียบเสมือนไฟ ซึ่งทั้งหมดนี้จะขึ้นไปปกปักรักษาพระศาสนา
ช่อฟ้าชั้นที่ 2 หมายถึง สมาธิ แทนด้วย สัตว์ 2 ชนิด คือ พญานาคกับหงส์ เขี้ยวพญานาค เปรียบเสมือน ความชั่วในตัวมนุษย์ ดังนั้นหงส์ จึงเปรียบเสมือนความดีงาม ศีลเป็นตัวฆ่าความชั่ว หรือกิเลสที่เกิดขึ้นในจิตใจของมนุษย์ เมื่อเราเอาชนะกิเลสได้ เราก็จะเกิดสมาธิ และปัญญา
ช่อฟ้าชั้นที่ 3 หมายถึง ปัญญา แทนด้วย หงส์ปากครุฑ หมอบราบสงบนิ่ง มุ่งสู่การดับสิ้นซึ่งอาสวะกิเลส
ภายใน ด้านหลังช่อฟ้าชั้นที่ 3 จะมีลวดลาย 7 ชิ้น หมายถึง โพชฌงค์ 7 หรือธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้
ลาย 8 ชิ้นรองรับฉัตร หมายถึง มรรค 8 หรือหนทางแห่งความดับทุกข์ ฉัตร หมายถึง พระนิพพาน ลวดลายบนเชิงชาย ด้านข้างของหลังคาชั้นบนสุด แทนด้วยสังโยชน์ 10 หรือกิเลสที่ผูกมัดใจสัตว์ เสา 4 มุม ด้านข้างโบสถ์ คือ ตุง (ธง) กระด้าง มีขึ้นเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาแด่พระพุทธเจ้าตามคติล้านนา
หลังจากฉันชื่นชมความวิจิตรงดงามของศิลปะไทยประยุกต์ของวัดร่องขุ่น ที่สมดั่งคำล่ำลือแล้ว ยังได้สัมผัสถึงหลักธรรมคำสอนทางพุทธศาสนาที่แฝงมากับงานศิลปะของอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติของล้านนา ผู้ที่เปี่ยมด้วยศรัทธาและรังสรรค์งานศิลปะให้แก่แผ่นดินไทย
ขอบคุณข้อมูลจาก www.วัดร่องขุ่น.com
Комментарии