ไหมไทย ผ้าที่ผลิตขึ้นอย่างประณีต วิจิตรงดงาม เป็นที่ต้องตาต้องใจของชาวต่างชาติ จนได้กลายเป็นสินค้าส่งออกไปยังหลายประเทศทั่วโลก สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 จึงได้พระราชทานเครื่องหมายตรานกยูงพระราชทาน ให้เป็นเครื่องหมายรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทย 4 ชนิด ได้แก่
1. นกยูงสีทอง (Royal Thai Silk) เป็นผ้าไหมที่ผลิตโดยใช้เส้นไหมและวัตถุดิบตลอดจนกระบวนการผลิตที่เป็นการอนุรักษ์ภูมิปัญญาพื้นบ้านดั้งเดิมของไทยอย่างแท้จริง ดังนี้
- ใช้เส้นไหมพันธุ์ไทยพื้นบ้านเป็นทั้งเส้นพุ่งและเส้นยืน
- เส้นไหมต้องสาวด้วยมือผ่านพวงสาวลงภาชนะ
- ทอด้วยกี่ทอมือแบบพื้นบ้านชนิดพุ่งกระสวยด้วยมือ
- ย้อมด้วยสีธรรมชาติ หรือสีเคมีที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม
- ต้องผลิตในประเทศไทยเท่านั้น
**ข้อบังคับกรมหม่อนไหม Royal Thai Silk นกยูงสีทอง
2. นกยูงสีเงิน (Classic Thai Silk) เป็นผ้าไหมที่ผลิตขึ้นโดยยังคงอนุรักษ์ภูมิปัญญาพื้นบ้านผสมผสานกับการประยุกต์ใช้เครื่องมือและกระบวนการผลิตในบางขั้นตอน ดังนี้
- ใช้เส้นไหมพันธุ์ไทยพื้นบ้านหรือพันธุ์ไทยปรับปรุงเป็นเส้นพุ่งและ/หรือเส้นยืน
- เส้นไหมต้องสาวด้วยมือ หรือสาวด้วยอุปกรณ์ที่ใช้มอเตอร์ขับเคลื่อนไม่เกิน 5 แรงม้า
- ทอด้วยกี่ทอมือชนิดพุ่งกระสวยด้วยมือหรือกี่กระตุกก็ได้
- ต้องผลิตในประเทศไทยเท่านั้น
**ข้อบังคับกรมหม่อนไหม Classic Thai Silk นกยูงสีเงิน
3. นกยูงสีน้ำเงิน (Thai Silk) เป็นผ้าไหมชนิดที่ผลิตด้วยภูมิปัญญาของไทยแบบประยุกต์ ใช้เทคโนโลยีการผลิตเข้ากับสมัยนิยมและเชิงธุรกิจ ดังนี้
- ใช้เส้นไหมแท้เป็นเส้นพุ่งและเส้นยืน
- ย้อมด้วยสีธรรมชาติ หรือสีเคมีที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม
- ทอด้วยกี่แบบใดก็ได้
- ต้องผลิตในประเทศไทยเท่านั้น
**ข้อบังคับกรมหม่อนไหม Thai Silk นกยูงสีน้ำเงิน
4. นกยูงสีเขียว (Thai Silk Blend) เป็นผ้าไหมที่ผลิตด้วยกระบวนการผลิตและเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ผสมผสานกับภูมิปัญญาไทยในด้านลวดลายและสีสันระหว่างเส้นใยไหมแท้กับเส้นใยอื่นที่มาจากธรรมชาติ หรือเส้นใยสังเคราะห์รูปแบบต่าง ๆ ตามวัตถุประสงค์การใช้งาน หรือตามความต้องการของผู้บริโภค ดังนี้
- ใช้เส้นไหมแท้เป็นส่วนประกอบหลัก มีเส้นใยอื่นเป็นส่วนประกอบรอง
- ต้องระบุส่วนประกอบของเส้นใยอื่นให้ชัดเจน
- ทอด้วยกี่แบบใดก็ได้
- ย้อมด้วยสีธรรมชาติ หรือสีเคมีที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม
- ต้องผลิตในประเทศไทยเท่านั้น
**ข้อบังคับกรมหม่อนไหม Thai Silk Blend นกยูงสีเขียว
เมื่อเดินเข้าไปภายในพิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในพระบรมมหาราชวัง ทางด้านขวามือจะเป็นร้านขายสินค้า ทั้งที่เป็นของพิพิธภัณฑ์เอง และสินค้าของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ มีสินค้ามากมายหลายอย่าง แต่ทุกอย่างล้วนทำจากผ้าไทยทั้งสิ้น อาทิ เสื้อ ร่ม กระเป๋า หมอน เป็นต้น
บรรยากาศภายในมีแสงไฟสีเหลืองนวล ให้ความรู้สึกสบายตา มีกลิ่นที่หอม และมีการเปิดดนตรีบรรเลงเพลงคลอตลอดเวลา ในส่วนของผนังกำแพง ตกแต่งด้วยวอลเปเปอร์ลายไทยสีน้ำเงินเข้ม ที่มีตัวละครต่าง ๆ ดำเนินเรื่องราว และแสดงถึงวิถีการใช้ชีวิต การละเล่นของไทย
โซนด้านในมีผ้าไหมจัดจำหน่ายอยู่หลายสี หลากหลายแบบและลวดลาย จะแบ่งเป็นผ้าไหมโซนนกยูงสีทองล้วน และอีกโซนเป็นโซนของนกยูงสีอื่น ๆ โดยทั้ง 2 โซนนั้นจะมีป้ายตราสัญลักษณ์นกยูงเพื่ออธิบายความหมายอยู่ด้วย
ในส่วนของชั้น 2 ของพิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เป็นห้องจัดแสดงนิทรรศการ ซึ่งปัจจุบันจัดแสดงฉลองพระองค์ต่าง ๆ ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งส่วนใหญ่ทำจากผ้าไหมไทย ฉลองพระองค์ที่จัดแสดงในนิทรรศการ งามสมบรมราชินีนาถ ทั้งหมด ออกแบบตัดเย็บโดยปิแอร์ บัลแมง ดีไซเนอร์ชาวฝรั่งเศส ทำให้ผ้าไหมไทยได้รู้จักกันอย่างแพร่หลาย จากที่ทรงสวมใส่ภายในประเทศ หรือไปเยือนในฐานะพระราชอาคันตุกะที่ต่างประเทศ
ผ้าไหมไทย ถือว่าเป็นผ้าที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่พิเศษกว่าผ้าไหมธรรมดา เมื่อกระทบแสงจะมีความแวววาวเป็นมันเลื่อม เนื้อผ้าฟูไม่เรียบ อ่อนนุ่ม มีน้ำหนัก ด้วยเอกลักษณ์นี้ จึงทำให้ผ้าไหมไทยเป็นที่รู้จักและเป็นที่นิยมไปเกือบทั่วโลก โดยนำมาถักทอเป็นลวดลายต่าง ๆ ที่มีความละเอียดลออ ประณีต เป็นลวดลายที่มีกลิ่นอายของความเป็นไทยแฝงอยู่
การทอผ้าไหม เป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง เพราะเป็นการทอมือแบบพื้นบ้านที่สืบสานต่อกันมาจากบรรพบุรุษในอดีตสู่ปัจจุบัน เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนแรกในการปลูกหม่อน การเลี้ยงไหม การฟอกย้อมสีไหม จนถึงขั้นตอนการถักทอลวดลายจนเป็นผืน
มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เป็นมูลนิธิที่ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระราชดำริให้จัดตั้งขึ้นมาใน พ.ศ. 2519 เพื่อช่วยเหลือประชาชน เนื่องจากทรงตระหนักว่าราษฎรซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรต้องประสบภัยธรรมชาติต่าง ๆ เช่น ฝนแล้ง นาล่ม ศัตรูพืชรบกวน ทำให้การประกอบอาชีพไม่ได้ผล วัตถุประสงค์สำคัญคือเพื่อหาอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรที่ประสบปัญหาในการเพาะปลูก หรือเกษตรกรที่ว่างจากฤดูเพาะปลูกให้ได้มีงานทำอยู่กับบ้าน
วัตถุประสงค์อีกประการหนึ่งคือเพื่อธำรงรักษาและฟื้นฟูหัตถกรรมแบบไทยโบราณ ซึ่งกำลังจะเสื่อมสูญไปตามกาลเวลาให้กลับมาแพร่หลาย เช่น การทอผ้าไหมมัดหมี่ลวดลายโบราณ การทอผ้าแพรวา การจักสานย่านลิเภา การทำเครื่องถมเงินและถมทอง การคร่ำ เป็นต้น เนื่องจากหัตถกรรมประเภทนี้ต้องใช้ฝีมือ เวลา และความอดทนเป็นอย่างมาก
“…ข้าพเจ้านั้นภูมิใจเสมอว่า คนไทยมีสายเลือดของช่างฝีมืออยู่ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นชาวไร่ชาวนา
หรือมีอาชีพใด อยู่สารทิศใด คนไทยมีความละเอียดอ่อนและฉับไวต่อการรับศิลปะทุกชนิด
ขอเพียงแต่ให้เขามีโอกาสได้เรียนรู้และฝึกฝนเขาก็จะแสดงความสามารถออกมาให้เห็นได้…”
พระราชดำรัสของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร
ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2532
ขอบคุณข้อมูลจาก มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
ขอบคุณข้อมูลจาก กรมหม่อนไหม
ขอบคุณข้อมูลจาก คุณอลิสา ใสเศวตวารี เจ้าหน้าที่ภัณฑารักษ์
ขอบคุณข้อมูลจาก คุณวิโรจน์ แก้วเรือง
Comments