top of page
Writer's pictureBaankluay News

ทริคเด็ดบริหารเงินให้ ‘รวย’ เรื่องง่าย ๆ ของวัยรุ่นยุคใหม่

Updated: Oct 9, 2018

ในยุคที่เศรษฐกิจย่ำแย่ สินค้าอุปโภคและบริโภคมีการปรับราคาขึ้นสูง ทำให้การจับจ่ายใช้สอยไม่เป็นอย่างใจ ปัญหาเหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อหลายครอบครัวที่ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น แต่รายรับยังคงเท่าเดิม ซึ่งเหตุผลข้างต้นนี้ ทำให้ต้องลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลง และเรียนรู้วิธีบริหารจัดการเงินที่ถูกต้อง เพื่อสร้างรากฐานที่มั่นคงทางการเงินภายในครอบครัว โดยการบริหารจัดการเงินไม่

เพียงแต่ใช้กับคนที่มีรายได้ เพียงอย่างเดียว แต่วัยรุ่นที่ยังไม่สามารถหาเงินด้วยตัวเองได้ก็มีควาจำเป็นที่จะต้องรู้ถึงวิธีบริหารจัดการกับการเงินอย่างถูกต้องเพื่อช่วยลดรายจ่ายภายในครอบครัวและปรับตัวเพื่อเตรียมเข้าสู่วัยทำงาน



สถานการณ์การใช้เงินของเด็กจบใหม่ในปัจจุบันส่วนใหญ่จะมีไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไปตามการเติบโตของสังคม มักตัดสินใจในการจ่ายเงินอย่างง่ายดาย โดยใช้เงินไปกับกระแสนิยมทั้งเรื่องกินเรื่องเที่ยว รวมไปถึงเทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว มีช่องทางการใช้จ่ายเงินในออนไลน์มากขึ้น ทำให้คนตัดสินใจซื้อของได้ง่าย จนยากกับการควบคุมการใช้จ่าย ซึ่งปัจจัยเหล่านี้เป็นตัวแปรในการเร่งพฤติกรรมการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น และช่องทางการเงินที่ง่ายที่สุดคือ บัตรเครดิต และ สินเชื่อบุคคล ที่หลายๆธนาคาร พยายามออกโปรโมชั่นมากมายเพื่อตอบสนองลูกค้าในยุคปัจจุบัน

จากข้อมูลข้างต้นตรงกับสถิติของสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ที่พบว่า 50% ของคนเจนวาย ไม่มีเงินออม 48% ผ่อนชำระหนี้สินไม่ตรงเวลา 45% มีรายจ่ายมากกว่ารายรับ ซึ่งปัญหาเหล่านี้เกิดจาก การใช้เงินเดือนแบบเดือนชนเดือน ไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจน ไม่มีการวางแผนการเงิน และคนกลุ่มนี้มักชอบความสุขเพียงระยะสั้น ยกตัวอย่างเช่น ต้องการไปญี่ปุ่นโดยใช้บัตรเครดิตรูดไปทั้งหมด 75,000 บาท ส่วนใหญ่เลือกที่จะนำเงินมาใช้ก่อนและใช้วิธีผ่อนจ่าย นั่นหมายความว่า คุณอาจต้องใช้เวลาถึง 4ปี ในการผ่อนจ่ายทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย ซึ่งแน่นอนว่าคุณต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ถึง 48เดือน (4ปี) เพื่อแลกกับความสุขตอนไปเที่ยวญี่ปุ่นเพียง 10 วันเท่านั้น สิ่งที่กล่าวไปข้างต้น บ่งบอกถึงปัญหาของคนกลุ่มนี้ที่ไม่ทราบถึงวิธีการวางแผนการเงินที่ถูกต้อง

ดร.อัจฉรา โยมสินธุ์ ภาควิชาการเงิน คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ นิยามถึงการวางแผนทางการเงินว่า การจัดการทรัพยากรทางการเงินที่มีในวันนี้ และในวันหน้ามีไว้เพื่อให้บรรลุเป้าหมายทางการเงิน สำหรับคนรุ่นใหม่ที่จำเป็นต้องมีการวางแผนการใช้เงินตั้งแต่หลังเรียนจบว่าจะจัดการกับเงินที่ได้มาอย่างไร ยกตัวอย่างเช่น การวางแผนไปเที่ยว หากไม่มีการวางแผนอาจจะเสียเวลาในการขับรถหาที่พัก สถานที่เที่ยว หรือร้านอาหาร ซึ่งทำให้เสียน้ำมันไปโดยใช่เหตุ แต่ถ้าหากคนที่มีการวางแผนมาก่อน ก็สามารถไปตามสถานที่ต่างๆ ได้อย่างแพลนที่วางไว้ จะทำให้เห็นได้ว่า คนที่วางแผนสามารถไปถึงเป้าหมายได้เร็วกว่า ซึ่งในการจัดการการวางแผนทางการเงินนั้นต้องรู้ถึงความจำเป็นและความต้องการของการใช้เงินก่อน



วิธีการจัดการเงินของบุคคลที่จบใหม่โดยให้ตั้งเป้าหมายคือควรออมก่อนใช้และถ้าเป็นไปได้ให้แบ่งสัดส่วน 25% ของเงินที่ได้รับมา ไว้สำหรับซื้อ กองทุนการออมแห่งชาติ โดยกองทุนนี้เป็นกองทุนที่น่าสนใจ โดยกองทุนการออมจะส่งเสริมให้ผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระหรืออยู่นอกระบบบำเหน็จบำนาญของรัฐ ได้ออมเงินเพื่อใช้ในยามเกษียณ ซึ่งสมาชิกต้องจ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนไม่ต่ำกว่าครั้งละ 50 บาท และไม่จำเป็นต้องส่งเงินเข้ากองทุน จำนวนเท่ากันทุกเดือน แต่เมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 13,200 บาท ต่อปี โดยรัฐจะช่วยสมทบให้ตามระดับอายุของสมาชิกดังนี้ อายุ สมาชิก 15-30 ปี อัตราเงินสมทบต่อเงินสะสม 50% อายุสมาชิก 30-50 ปี อัตราเงินสมทบต่อเงินสะสม 80% อายุ 50 ปีขึ้นไป อัตราเงินสมทบต่อเงินสะสม 100% และสมาชิกมีสิทธิ์รับเงินได้เมื่อ อายุครบ 60ปี ทุพพลภาพก่อนอายุครบ 60ปี ลาออกจากกองทุน หรือเสียชีวิต

การจัดการเงินด้วยวิธีซื้อกองทุนการออมแห่งชาติมีความสำคัญกับบุคคลที่พึ่งจบใหม่และยังไม่ได้ทำงานประจำ เพราะเป็นการลงทุนที่ง่ายและสามารถทำความเข้าใจได้ด้วยตนเอง อีกทั้งการลงทุนในรูปแบบนี้ มีความเสี่ยงน้อยที่สุด และยังได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่า รวมถึงยังสร้างความมั่นใจให้กับผู้ที่ลงทุนว่าในอนาคตหลังเกษียณเราจะมีเงินก้อน สำหรับใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน


นอกจากนี้ยังมีการบริหารจัดการเงินง่ายๆ โดยนำหลักคิดเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน จุดเริ่มต้นที่สำคัญของ การเป็นคนพอเพียงได้ต้องอาศัย 3 หลักการแห่งการพอเพียงมาใช้ในการตัดสินใจคือ 1.การพอประมาณกับรายได้ที่ตนรับ ไม่เดือดร้อน บุคคลอื่น 2. มีเหตุผล หมายความว่า เหตุผลดังกล่าวต้องส่งผลต่ออนาคตในทางที่ดีขึ้น มีรายได้มากขึ้น 3.มีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี คือมีเงิน สำรองเพียงพอสำหรับระยะสั้น(6เดือน) และระยะยาว (ชีวิตหลังเกษียณ) หากปฎิบัติตามหลักความคิด 3 ข้อนี้ได้ เราจะเข้าใจสถานะ การเงินของตัวเอง ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของความพอประมาณในชีวิต


วิภา เจริญกิจสุพัฒน์ ที่ปรึกษาการเงินส่วนบุคคล สมาคมนักวางแผนการเงินไทย อธิบายถึงการวางแผนการเงินของเด็กจบใหม่ว่า การวางแผนทางการเงินนี้สามารถใช้กับเด็กที่เรียนจบมานานแล้วได้เช่นกัน หากทำงานมาแล้ว 10 ปีแต่ยังไม่มีเงินเก็บ เราสามารถมาเรียนรู้วิธีบริหารจัดการเงินใหม่ได้เสมอ โดยสิ่งสำคัญที่สุดในการวางแผนการเงินคือเราต้องเริ่มต้นที่การปรับความเชื่อที่มีผลต่อพฤติกรรมที่มีผลมาจากการเลี้ยงดู สังคม สภาพแวดล้อม และวัฒนธรรม


สำหรับนักศึกษาที่กำลังจะจบใหม่ ต้องเตรียมวางแผนปรับเปลี่ยนสถานะของตนเอง จากสถานะพึ่งพิงเงินของผู้ปกครองในการดำรงชีพ สู่สถานะการพึ่งพาตนเองด้วยการหารายได้จากตนเอง และมีรายรับรายจ่ายที่สมดุลเพียงพอกับการดำรงชีวิตโดยไม่ต้องพึ่งพาแหล่งเงินจากบุคคลอื่น โดยมีคำแนะนำสำหรับการย้ายสถานะพึ่งพิงเป็นสถานะพึ่งพาตนเองดังนี้


1. ให้เงินเดือนพ่อแม่ทุกเดือนตั้งแต่เดือนแรกที่มีรายได้ เป็นการฝึกสมองให้รับรู้มีเงินมากพอที่จะให้พ่อแม่ทุกเดือน 10-20% ของรายได้

2. คืนเงินกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เราสามารถคืนเงินกยศ.เร็วกว่าระยะปลอดหนี้ 2 ปีหลังเรียนจบได้ เราวางแผนดึงเงินเดือนสะสมตั้งแต่เดือนแรกที่มีรายได้เพียงปีเดียวก็สามารถคืนเงินก้อนแรกได้

3. เตรียมเงินสำรองฉุกเฉิน 6 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือน

4. เปิดบัญชีธนาคารนอกเหนือจากเงินเดือนอีกอย่างน้อย 2 บัญชี เพื่อแยกเงินตามวัตถุประสงค์ คือ บัญชีเงินสำรองฉุกเฉิน โดยออม 5-10% ของรายได้ และบัญชีค่าใช้จ่ายรายปี

5. จัดการการเงินให้รายรับรายจ่ายสมดุล โดยการบันทึกรายรับรายจ่าย จดทันทีที่มีการจ่ายทั้งที่จ่ายเป็นเงินสด และบัตรเครดิต การ

บันทึกรายจ่ายช่วยให้เราเห็นพฤติกรรมการใช้เงินของตัวเอง

6. พิจารณาทำประกันคุ้มครองชีวิต ทุพพลภาพ เบี้ยประกันชีวิตและทุพพลภาพสำหรับเด็กจบใหม่ ความคุ้มครอง 1 ล้านบาท ออมเงินเพิ่มต่อเดือนไม่ถึง 2,000 บาท

7. พิจารณาการออมระยะยาว เด็กจบใหม่มักจะคิดว่าเกษียณอีกไกล ถ้ายังไม่มีเป้าหมายการเงินอื่น แนะนำให้เริ่มออมเพื่อเกษียณ ทุกคนจำเป็นต้องเตรียมค่าใช้จ่ายหลังเกษียณอยู่แล้ว

8. ลดภาระค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นภายในชีวิตประจำวัน เช่น นำข้าวกล่องไปทานที่ทำงาน


จะเห็นได้ชัดว่าการจัดการเงินนั้นมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เพียงแค่เริ่มวางแผนการใช้และคิดก่อนจ่ายทุกครั้ง ใช้จ่ายตามอัตภาพ ไม่ฟุ่มเฟื่อย ไม่ฟุ้งเฟ้อ การก่อหนี้ไม่ใช่สิ่งน่ากลัวหากมีการบริหารจัดการที่ดี และเลือกก่อหนี้ที่มีประโยชน์ เช่นการกู้ซื้อบ้านหรือกู้เพื่อประกอบอาชีพ อย่างไรก็ตามก็ขึ้นอยู่กับการใช้ชีวิตของแต่ละบุคคลว่าจะมีการบริหารจัดการเงินไปในทิศทางไหนให้ได้ความก้าวหน้าทางการเงินและสามารถเหลือเงินไว้สำหรับดำรงชีวิตในอนาคตได้ ที่สำคัญหากมีเงินเหลือควรเก็บออมเผื่อกับการลงทุนอะไรใหม่ ๆ ในอนาคตเพื่อเพิ่มรายได้ให้งอกเงยมากขึ้น

112 views0 comments

Comments


bottom of page