เมื่อช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2561 เกิดวิกฤตราคาสับปะรดตกต่ำมากที่สุดในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ทำให้หลายฝ่ายเกิดความวิตกเป็นอย่างมากว่า เพราะเหตุใดราคาสับปะรดจึงมีราคาที่ถูกลงมากเช่นนี้ โดยเฉพาะเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อนจากผลกระทบที่สับปะรดล้นตลาด ผลผลิตบางส่วนค้างสต็อกไม่สามารถระบายออกได้ ต้องปล่อยให้เน่าเสีย
พื้นฐานสับปะรดของประเทศไทย มีกำลังการผลิตรวม 2.16-2.4 ล้านตัน แต่เข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมเพียง 1.80-2.00 ล้านตัน ส่วนที่เหลืออยู่ในระดับการบริโภคทั้งภายในและภายนอกประเทศ สร้างรายได้ให้กับประเทศไทยประมาณปีละ 23,000-25,000 ล้านบาท โดยมีผลิตภัณฑ์ส่งออกที่สำคัญได้แก่ สับปะรดกระป๋อง และน้ำสับปะรด คิดเป็นร้อยละ 45 ของมูลค่าการส่งออก ผลิตภัณฑ์ผลไม้แปรรูป และประเทศไทยยังเป็นผู้ส่งออกสับปะรดกระป๋องเป็นอันดับ 1 ของโลก มีส่วนแบ่งการตลาดประมาณร้อยละ 50 ซึ่งตลาดส่งออกสำคัญได้แก่ สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และตะวันออกกลาง
ในปี 2558-2559 ถือเป็นปีทองแห่งการเพาะปลูกสับปะรด เพราะสับปะรดกลายเป็นผลผลิตที่มีราคาดีและราคาสูง ทำให้เกษตรกรมีความต้องการขยายพื้นที่การเพาะปลูกกันมากขึ้น ในปี 2561 จึงทำให้เกิดภาวะสับปะรดล้นตลาดเนื่องจากร้อยละ 90 พึ่งพาโรงงานแปรรูปเพื่อส่งออกต่างประเทศ ในขณะที่กำลังการผลิตของโรงงานแปรรูปคงเดิม รวมทั้งประเทศไทยถูกตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) จากยุโรป จึงทำให้สับปะรดไทยถึง 20% ถูกลอยแพ จึงทำให้การระบายสินค้าเกิดความล่าช้า สินค้าล้นตลาด และส่งผลให้โรงงานกดราคารับซื้อ เกษตรกรได้รับความเดือดร้อนและขาดทุนเป็นอย่างมาก
นาย วีระ สาเกทอง เจ้าของไร่สับปะรด อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี อธิบายว่า ในแต่ละปีทางสวนส่งออกสับปะรดสู่ตลาดในปริมาณ 800-1,000 ตัน โดยรวมเฉลี่ยมีรายได้จากการส่งออกถึง 6-7 ล้านบาทต่อปี ในช่วงปี 2558-2559 สับปะรดมีราคาสูง ทำให้เกษตรกรมีความต้องการที่จะขยายพื้นที่ในการเพาะปลูกมากขึ้น เพื่อเพิ่มผลผลิตให้มากยิ่งขึ้น แต่ในช่วงปี 2560 เป็นต้นมา ราคาสับปะรดตกลงมาก สินค้าล้นตลาด ผลผลิตค้างสต็อกไม่สามารถระบายออกได้กว่า 50 ตัน ซึ่งขาดทุนราว 2 ล้านบาท
“ปัจจุบันราคาของสับปะรดขึ้นมาเป็นปกติแต่ผลผลิตขาดช่วง ผลผลิตจะออกในช่วงเดือน ธันวาคม-เมษายน และจะขาดช่วงอยู่ประมาณ 2-3 เดือน ราคาสับปะรดจะตกต่ำช่วงหนึ่งคือช่วงเดือน พฤษภาคม-มิถุนายน ราคากิโลกรัมละ 2-3 บาท ที่ไร่ผลิตสับปะรดส่งโรงงาน 70% แม่ค้า 30% เน้นไปทางโรงงานมากกว่า เพราะได้กำไรจากส่วนนี้เยอะ แต่ถ้าที่โรงงานไม่รับสับปะรดที่ไร่ก็จะมีแผงขายเอง ยังคงช่วยระบายสับปะรดได้บางส่วน ที่เหลือก็เอามาแปรรูปเป็นสับปะรดกวนก็ยังคงพอมีรายได้อยู่บ้าง” นายวีระกล่าว
กระทรวงพาณิชย์ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยกระทรวงพาณิชย์ได้มีมาตราการนำสับปะรดส่วนเกินออกจากระบบโดยกระจายสับปะรดออกนอกแหล่งผลิตสำหรับบริโภคผลสด และนำไปทำอาหารสัตว์เลี้ยงโคนมโคเนื้อ รณรงค์บริโภคสับปะรดโดยอาศัยเครือข่ายประชารัฐ และการเร่งรัดขยายตลาดส่งออกไปต่างประเทศให้มากขึ้น ในขณะเดียวกันกรมการค้าภายในได้เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาและกระจายผลผลิตสับปะรดผลสดออกจากแหล่งผลิต และได้สนับสนุนงบประมาณรวม 1,285,000 บาท ให้จังหวัดระยอง ชลบุรี เชียงราย อุทัยธานี พิษณุโลก ลำปาง ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายรวบรวมผลผลิต คัดคุณภาพและกระจายไปจังหวัดปลายทางนอกแหล่งผลิต รวมปริมาณกว่า 2,000 ตัน และได้ประสานงานภาครัฐและเอกชนให้ช่วยรับซื้อสับปะรดจากเกษตรกร
อย่างไรก็ตาม หน่วยงานจากภาครัฐได้เข้ามาช่วยเหลือแต่จากการสัมภาษณ์เกษตรกรผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนนั้นมองว่า การที่ภาครัฐยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือโดยการรับซื้อ เป็นเพียงทางแก้ส่วนหนึ่งเท่านั้น โดยวิธีการจัดการกับปัญหาสับปะรดที่ล้นตลาด ภาครัฐควรที่จะกำหนดโซนพื้นที่เพาะปลูกให้มีโรงงานรองรับ โดยโรงงานในแต่ละพื้นที่จะมีสัญญาผูกมัดเกี่ยวกับผลผลิตและค่าขนส่งที่แน่นอน กล่าวคือ ถ้าในพื้นที่ไหน จังหวัดไหน มีการเพาะปลูกสับปะรด ก็ควรที่จะมีโรงงานรองรับ ซึ่งน่าจะเป็นอีกทางในการแก้ไขปัญหาภาวะสับปะรดล้นตลาด
Comments