top of page
Writer's pictureBaankluay News

การเติบโตของไทยกับสังคมไร้เงินสด


ขอบคุณภาพจาก pixabay.com

ระบบ Cashless society หรือสังคมไร้เงินสด เป็นระบบการใช้จ่ายแบบใหม่ในยุคที่เทคโนโลยี แทบจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของมนุษย์ สังคมที่ใช้เงินสดในการแลกเปลี่ยนหรือจับจ่ายซื้อขายสินค้าและบริการต่าง ๆ กำลังจะหมดไป เพราะการมาของสังคมไร้เงินสด ได้แปรเปลี่ยนทุกอย่างตามพฤติกรรมของคนยุคปัจจุบันที่ใช้จ่ายธุรกรรมและสินค้าผ่านบัตรเครดิต-บัตรเดบิตมากขึ้น


พล.อ.ประยุทธิ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เคยกล่าวเชิญชวนประชาชนและภาคธุรกิจ เมื่อวันที่ 1 กันยายน ปี 2560 ให้หันมาสนใจในเรื่องสังคมไร้เงินสด โดยสนับสนุนเรื่องการใช้ระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ (อี-เพย์เมนท์) และใช้เงินสดให้น้อยลง โดยให้เหตุผลในเรื่องของความสะดวกสบายและไม่ต้องกลัวถูกวิ่งราวชิงทรัพย์ ตามนโยบาย “ไทยแลนด์4.0” ด้วยการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้านเทคโนโยลีและนวัตกรรม


เข้าสู่ปี 2561 การเปลี่ยนแปลงหลายๆอย่างนำไปสู่การผลักดันสังคมไร้เงินสดให้เกิดขึ้นในสังคมไทย เพื่อวางรากฐานพัฒนา เศรษฐกิจดิจิตอลของประเทศไทย ที่ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงสังคมไร้เงินสดได้ง่ายขึ้น เกิดจากมาตรการโดยกระทรวงการคลัง หลังร่วมมือและเร่งให้ธนาคารพาณิชย์ติดตั้งเครื่องรูดบัตรในระยะแรก จากแถลงการณ์ของกระทรวงการคลังทำให้ทราบว่ามีประชาชนตื่นตัวสนใจใช้บัตรเดบิตเพิ่มขึ้นสูงถึง 30% ซึ่งการดำเนินการนี้ถือว่าประสบความสำเร็จมากในระดับหนึ่ง


อีกหนึ่งจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยเติบโตไปได้เร็ว คือการผลักดันร่วมกันจากรัฐและธนาคารกับระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ (อี-เพย์เมนท์) ด้วยบริการอย่างพร้อมเพย์ ที่สะดวกในการรับเงินและโอนเงินด้วยค่าธรรมเนียมที่ถูกกว่า ง่ายกว่าด้วยการใช้เพียงเบอร์โทรศัพท์มือถือและเลขบัตรประจำตัวประชาชนเท่านั้น จึงทำให้เกิดการมาของ QR Code Payment ที่ใช้จ่ายแทนเงินสด เพียงสแกน QR Code จากแอพพลิเคชั่นธนาคารที่ใช้ ซึ่งธนาคารใช้มาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ ด้วยจุดนี้ทำให้สังคมไร้เงินสดของไทยเติบโตอย่างก้าวกระโดด


ดร.อัจฉรา โยมสินธุ์ ภาควิชาการเงิน คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ กล่าวถึงการเติบโตของสังคมไร้เงินสดว่า พร้อมเพย์ คือระยะแรกของการพัฒนาประเทศไทยให้เข้าสู่ระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ (อี-เพย์เมนท์) ซึ่งเป็นแผนยุทธศาสตร์ชาติที่ตอบโจทย์ ไทยแลนด์ 4.0 ได้เป็นอย่างดี แม้ก่อนหน้านี้จะพัฒนาได้ช้าแต่ปัจจุบันมีแนวโน้มจะเติบโตได้อีก จากยอดบัตรเครดิตและบัตรเดบิตที่มีเกินจำนวนประชากร รวมถึงยอดการใช้สมาร์ทโฟนที่มีมากขึ้น ซึ่งระบบนี้พร้อมที่จะให้บริการ ขาดก็แต่ความพร้อมของประชาชนที่จะต้องปรับตัว เพราะหลาย ๆ อย่างยังไม่พร้อมทำให้การไม่พกเงินสดยังใช้ชีวิตในไทยยากพอสมควร เช่น จ่ายค่าวินมอไซต์ ร้านอาหารเช้าข้างทาง ผิดจากต่างประเทศที่เป็น Cashlless society เต็มตัว อย่างสวีเดน สิงคโปร์ หรือจีนที่แม้แต่อาม่าขายหนังสือพิมพ์ข้างทางยังมี QR Code สำหรับรับเงินลูกค้า


นายธนวิชญ์ เกศรีระคุปต์ ผู้จัดการธนาคารออมสิน กล่าวถึง ข้อดีของสังคมไร้เงินสดที่สังคมจะได้รับ ว่านอกจากความสะดวกแล้วยังปลอดภัยเพราะธุรกรรมออนไลน์สามารถระบุตัวตนผู้ใช้บริการได้อย่างชัดเจน ทั้งยังประหยัดงบประมาณแผ่นดินในการพิมพ์​ธนบัตร เหรียญ และลดเอกสารต่าง ๆ ลง ซึ่งงบประมาณส่วนนี้สามารถประหยัดไปได้มาก ด้านผลกระทบที่มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นคือ อาจมีเงินสกุลใหม่ ๆ เกิดขึ้นในระบบการแลกเปลี่ยน และโจรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์จะเกิดมากขึ้นแต่ก็ลดอาชญากรรมเรื่องการปล้นแทน เพราะไม่มีเงินสดให้ปล้น ซึ่งแนวทางการแก้ไขเบื้องต้นของธนาคารคือ ต้องส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจในการใช้ระบบ และพัฒนาระบบให้ใช้งานง่ายและปลอดภัยลดขั้นตอนของการทำธุรกรรม


สังคมไร้เงินสดที่มีทั้งข้อดีและข้อเสียอยู่บ้าง ในมุมมองของประชาชนทั่วไปมองว่าการไม่ต้องพกเงินสด แล้วใช้จ่ายผ่านบัตรและแอพลิเคชั่นมือถือมีความสะดวกสบาย ทั้งในแง่ของเวลา ความคล่องตัว ความรวดเร็ว ส่วนด้านของความปลอดภัยก็เป็นสิ่งที่จะต้องพัฒนา เพราะยังมีช่องโหว่ให้โจรกรรม อย่างอาม่าขายหนังสือพิมพ์ข้างทางที่จีน ก็โดนโจรเอา QR Code มาสลับแทนที่ เป็นต้น จากสถานการณ์แล้วประเทศไทยเองก็อาจจะกลายเป็น Cashless society หรือสังคมไร้เงินสดอย่างเต็มรูปแบบเช่นกัน แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประชาชน จะมีความพร้อมที่จะพัฒนาและปรับตัวไปด้วยกันมากแค่ไหน

54 views0 comments

Comments


bottom of page