การแข่งขันจักรยานยนต์ทางเรียบชิงแชมป์โลกหรือโมโตจีพี เป็นการแข่งขันรถมอเตอร์ไซค์ชั้นนำระดับโลกที่มีอายุเก่าแก่มากกว่า 60 ปี มีการแข่งขันตามสนามของประเทศต่างๆมากมายทั่วโลกทั้งหมด 18 สนาม ซึ่งในมุมของแฟนๆ โมโตจีพี ชาวไทยหรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับวงการนี้ต่างให้ความหวังว่าสักวันหนึ่งเราจะเห็นโมโตจีพี มาจัดแข่งขันในไทยสักครั้ง และไม่นานมานี้ ความหวังนั้นก็ได้เกิดขึ้นจริง ทาง Dorna Sports ที่เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ได้ตกลงอนุมัติตอบรับให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันโมโตจีพีในสนามที่ 15 ระหว่างวันที่ 5-7 ตุลาคมที่ผ่านมา ที่ สนาม ช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต จังหวัดบุรีรัมย์ โดยใช้ชื่อว่า PTT Thailand Grand Prix 2018
การแข่งขันโมโตจีพีที่ประเทศไทยของเราได้เป็นเจ้าภาพนั้นเกิดขึ้นมาจากที่การกีฬาแห่งประเทศไทยได้เริ่มเห็นความสำคัญของกีฬาชนิดนี้ จากการเริ่มผลักดันของคนในวงการการแข่งขันรถมอเตอร์ไซค์ทางเรียบให้เข้าสู่ความเป็นมาตรฐานตั้งแต่ปี 2000 และต่อมาได้มีนำการเสนอเข้าสู่คณะรัฐมนตรีกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬาให้ได้มีเริ่มความคิดริเริ่มที่จัดการแข่งขันโมโตจีพีที่เป็นการแข่งขันระดับโลกใน 2 ปีที่ผ่านมา โดยท้ายที่สุดนั้นได้มีการร่วมมือกันของรัฐบาลและเอกชนที่รังสรรค์ให้เกิดการแข่งขันระดับโลกนี้ขึ้นมาได้สำเร็จ โดยปัจจัยสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ขาดไม่ได้เลยคือการที่ Dorna Sport ที่เป็นผู้ถือลิขสิทธิ์การจัดโมโตจีพีนั้นได้เล็งเห็นว่าสนาม ช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต มีความพร้อมที่จะจัดการแข่งขันโมโตจีพีในปี 2018
Dorna sports ได้มีการชิมลางจัดแข่งขันรายการแข่งขันซูเปอร์ไบค์เวิลด์แชมเปี้ยนชิพหรือเวิลด์ซูเปอร์ไบค์ในปี 2015 และอีกเหตุผลหนึ่งที่ทาง Dorna Sports นั้นเลือกอนุมัติสนามที่บุรีรมย์เป็น 1 ในสนามแข่งของปี 2018 นั่นก็คือ Dorna Sports ได้มองเห็นการสร้างแผนการตลาดในแถบทวีปเอเชีย โดยการสร้างฐานแฟนคลับหรือแม้กระทั่งนักแข่งที่เป็นแชมป์จากทวีปเอเชียให้มากขึ้นกว่าเดิม เพราะในปัจจุบันเราจะเห็นแชมป์ในแต่ละฤดูกาลเป็นคนจากทวีปยุโรปซะเป็นส่วนใหญ่ ยกตัวอย่างเช่น “เดอะด็อคเตอร์” วาเรนติโน่ รอสซี่ เจ้าของแชมป์โลก 9 สมัยชาวอิตาลี มาร์ค มาเกวซ เจ้าของแชมป์โลก 7 สมัย ชาวสเปน หรือแม้กระทั่ง ฮอร์เก ลอเลนโซ นักแข่งชาวสเปน ที่เป็นแชมป์โลก 5 สมัย แต่มองในมุมกลับกันแชมป์จากทวีปเอเชียหาได้น้อยมากทาง Dorna Sports จึงอยากสร้างฐานในทวีปเอเชียมากขึ้นจึงเลือกไทยเป็น 1 ในสนามแข่งนั่นเอง
คนทั่วไปอาจมองว่าการแข่งขันโมโตจีพีในประเทศไทยไม่ใช่อีเว้นท์ที่ดูน่าตื่นเต้นเท่าใดนัก เพราะหลายคนอาจมองว่า โมโตจีพีเป็นกีฬาที่คนให้ความสนใจน้อยกว่าหรือเป็นกีฬาเฉพาะกลุ่ม ถ้าเทียบกับ ฟุตบอลหรือกีฬาอื่นๆ ที่มีกระแสนิยมมากกว่านี้ แต่ในทางกลับกันถ้าเรามองกันดีๆ โมโตจีพีนั้นเป็น 1 ในกีฬายอดนิยมของทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยด้วย โดยมีสถิติเผยออกมาว่าในระหว่างการจัดแข่งขันทั้ง 3 วันที่จังหวัดบุรีรัมย์นั้น มีผู้ชมให้ความสนใจเข้าร่วมชมการแข่งขันรวมทั้งหมด 222,535 คน และสร้างรายได้ทั้งทางตรงและทางอ้อมรวมทั้งสิ้น 3,000 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นความสำเร็จอย่างมากในการเป็นเจ้าภาพครั้งแรกของประเทศไทย
นอกจากนั้น มาร์ค มาเกวซ เจ้าของแชมป์โลกปีล่าสุด จากทีมเรปโซล ฮอนด้า สามารถบิดเข้าเส้นชัยเป็นคนแรก ส่งผลให้เจ้าตัวคว้าแชมป์อย่างยิ่งใหญ่ประเดิมสนามเป็นคนแรกของรายการ PTT Thailand Grand Prix 2018 ตามมาด้วย อันเดรีย โดวิซิโอโซ จากทีมดูคาติ และ มาเวอริค บีญาเลส จากทีมโมบีสตาร์ยามาฮ่า เข้าเป็นอันดับ 2 และ 3 ตามลำดับ
ขณะเดียวกันนั้นในการแข่งขันโมโตจีพีที่สนาม ช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต นั้นได้มีนักบิดจากประเทศไทยลงแข่งขันด้วยใน 2 รุ่นคือ โมโต 3 ที่มี ชิพ นครินทร์ อธิรัฐภูวภัทร์ จาก อิเดมิตสึ ฮอนด้า ทีม เอเชีย ก้อง สมเกียรติ จันทรา นักบิดดาวรุ่งมือไวลด์การ์ดของ เอ.พี.ฮอนด้า เรซซิ่ง ไทยแลนด์ และ แสตมป์ อภิวัฒน์ วงศ์ธนานนท์ จากทีม วีอาร์ 46 มาสเตอร์ แคมป์ ทีม ส่วนในรุ่นของ โมโต 2 ที่มี ติ๊งโน๊ต ฐิติพงศ์ วโรกร จากทีมแซ็ก เรซซิ่ง ทีม ลงทำการแข่งขัน ซึ่งผลปรากฏว่า นักแข่งไทยที่ทำผลงานได้ดีที่สุดนั่นคือ ก้อง สมเกียรติ จันทรา จากทีม เอ.พี.ฮอนด้าไทยแลนด์ โดยบิดเข้าสู่อันดับ 9 ส่งผลให้มีคะแนนสะสมเพิ่มไปอีก 7 คะแนน ซึ่งหากมองในผลงานของนักแข่งไทยคนอื่นก็ไม่ได้เลวร้ายขนาดนั้น โดยการที่ ก้อง บิดเข้าเส้นชัยเป็นอันดับ 9 นั้น แสดงให้เห็นในหลาย ๆ อย่างว่า การเติบโตของนักแข่งในประเทศไทยนั้นมีความเจริญก้าวหน้าและพัฒนามากขึ้นกว่าในสมัยก่อนที่มีนักแข่งไทยที่มาแข่งในรายการของโมโตจีพี ไม่ถึง 2 คน ซึ่งในปัจจุบันเราจะเห็นว่ามีนักแข่งจากไทยเข้าร่วมในรายการระดับโลกมากขึ้นรวมทั้งสามารถทำผลงานออกมาได้เป็นอย่างดี และคงยังจะมีการพัฒนาให้ถึงระดับรุ่นสูงสุด คือโมโตจีพี
น้าบาน สุทธิสาร แววสมณะ ผู้บรรยายกีฬาโมโตจีพีกล่าวไว้ว่า "การแข่งขันโมโตจีพีคือความฝันของคนทำงานในด้านโมโตสปอร์ตมานาน เราอยากจะผลักดันให้นักแข่งไทยก้าวขึ้นไปถึงโมโตจีพีเหมือนอย่างที่ญี่ปุ่นได้ทำอยู่ทุกวันนี้ แน่นอนเราก็หันกลับมาจากที่เราส่งรุ่น โมโต 2 และ โมโต 3 ขึ้นไปแล้ว ยังไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร เราจึงเริ่มกลับมาสร้าง โรงเรียนอนุบาลสำหรับการแข่งขัน ก็คือสร้างเยาวชนอนาคตรุ่นใหม่ตั้งแต่อายุน้อยๆ 9-10 ขวบ เหมือนกับต่างประเทศที่เขาทำอยู่ โดยที่สเปนและอิตาลีเขาก็ทำกันทั้งนั้น และแน่นอนเราไม่ได้ใช้เวลา 2-3 ปีแต่อาจถึง 10 ปีกว่าที่จะได้เห็นนักแข่งไทยไปแข่งที่จุดสูงสุดนั่นคือรุ่นสูงสุดโมโตจีพี"
ท้ายที่สุดแล้ว การแข่งขันโมโตจีพี ถึงแม้ปีแรกของประเทศไทยจะประสบความสำเร็จอย่างมหาศาลแต่เราก็ยังต้องดูกันไปอีกหลายปีต่อจากนี้ว่าจะมีกระแสตอบรับในการจัดการแข่งขันดีเหมือนปีแรกที่จัดขึ้นหรือไม่ หรือจะเป็นแค่กระแสชั่วคราวที่มาแล้วก็ผ่านไป และความหวังสูงสุดที่นักแข่งไทยจะขึ้นไปแข่งในระดับสูงสุดของการแข่งขันโมโตจีพี เราก็ยังคงต้องคอยเอาใจช่วยและรอชมกันต่อไปว่าจะสามารถพัฒนาได้มากน้อยแค่ไหนในอนาคต พวกเราในฐานะที่เป็นผู้ชมก็ยังอยากเห็นการแข่งขันโมโตจีพีในประเทศไทยไปตลอดและเชื่อว่าสักวันจะมีนักแข่งไทยก้าวขึ้นไปแข่งในระดับจุดสูงสุดของการแข่งขันรถจักรยานยนต์ทางเรียบที่ดีที่สุดในโลก
Comentários